คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 6 ก.พ. 2552 15:06:49

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่าสหภาพแรงงาน อ. จัดประชุมแต่งตั้งโจทก์และ ย. เป็นกรรมการลูกจ้าง โดยขณะที่จัดให้มีการประชุมนั้น ธ. ในฐานะประธานสหภาพแรงงานดังกล่าวทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์และ ย. มีเหตุทะเลาะวิวาทกันในที่ทำงานและในเวลาทำงาน โจทก์ถูกพักงานระหว่างสอบสวน แต่สหภาพแรงงานยังแต่งตั้งโจทก์และ ย. เป็นกรรมการลูกจ้าง ทั้งที่ย่อมคาดหมายได้ว่าโจทก์กับ ย. จะถูกจำเลยเลิกจ้าง การประชุมของสหภาพแรงงานดังกล่าวจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 เวลาประมาณเที่ยงคืน ที่หน้าบ้านพักของ ธ. ไม่จัดให้เป็นกิจจะลักษณะ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรม ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โจทก์อาศัยเหตุดังกล่าวเป็นมูลฟ้องร้องจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการวินิจฉัยไปถึงอำนาจฟ้องของโจทก์อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ที่ว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองกรรมการลูกจ้างในบางกรณีอาจเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของนายจ้าง นายจ้างจึงไม่อาจพอใจและกลั่นแกล้งกรรมการลูกจ้างได้ การที่นายจ้างจะเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ จึงจำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเพื่อให้ศาลแรงงานตรวจสอบเสียก่อนว่านายจ้างมีเหตุผลสมควรที่จะกระทำการดังกล่าวนั้นหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับ ย. มีเหตุทะเลาะวิวาทกันในที่ทำงานและในเวลาทำงาน จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนและระหว่างสอบสวนโจทก์ถูกพักงาน โดยขณะนั้นโจทก์ยังมิได้รับการแต่งตั้งในเป็นกรรมการลูกจ้าง ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในขณะที่ยังไม่ทราบว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิได้เป็นเพราะจำเลยไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะที่เป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่พอใจเนื่องจากโจทก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้าง ยิ่งไปกว่านั้นในขณะจัดให้มีการประชุมเพื่อแต่งตั้งโจทก์กับ ย. เป็นกรรมการลูกจ้างนั้น ธ. ในฐานะประธานสหภาพแรงงาน อ. ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยแต่งตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนและโจทก์ถูกพักงานระหว่างสอบสวน แต่สหภาพแรงงาน อ. ก็ยังแต่งตั้งโจทก์กับ ย. เป็นกรรมการลูกจ้างทั้งที่ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าโจทก์กับ ย. จะถูกจำเลยเลิกจ้าง โดยการประชุมก็จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนและมิได้จัดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อพฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งโจทก์ก็อาศัยเหตุนี้มาเป็นมูลฟ้องร้องจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเช่นนี้ โจทก์จึงไม่อาจอาศัยเหตุแห่งการเป็นกรรมการลูกจ้างมาขอความคุ้มครองจากศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างกับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ผู้พิพากษา

พิทยา บุญชู
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android