คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ม.ค. 2552 10:07:58

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งทนายความ โดยระบุในใบแต่งทนายความให้ ม. เป็นทนายความ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์รวมถึงการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ซึ่งใบแต่งทนายความของโจทก์ดังกล่าวมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกแห่งกรุงโตเกียวรับรองลายมือชื่อผู้แต่งทนายความ และมีหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น และหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว รับรองต่อกันมาตามลำดับ อันเป็นการดำเนินการตามพิธีการแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับเอกสารที่ทำในต่างประเทศครบถ้วนแล้ว โดยจำเลยทั้งสี่มิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์แต่งตั้ง ม. ให้มีอำนาจตามที่ระบุในใบแต่งทนายความจริง เมื่อใบแต่งทนายความระบุให้ ม. มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์แทนโจทก์ ม. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียงและผู้พิมพ์ได้
เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นฝ่ายชนะคดี และไม่มีส่วนได้เสียในฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีส่วนได้เสียอันจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ประกอบกับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้มีคำขอให้บังคับโจทก์ต้องรับผิดแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นอกเหนือไปจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่บริษัทโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน บัญญัติว่า "ผู้ประพันธ์ ให้กินความถึงผู้แต่งเพลงดนตรี ผู้ทำหรือก่อให้เกิดซึ่งศิลปกรรม เช่น ช่างเขียน ช่างภาพหุ่น สถาปนิก ฯลฯ ด้วย" และมาตรา 10 บัญญัติว่า ผู้ประพันธ์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำวรรกรรม วิทยาศาสตรกรรมหรือศิลปกรรมของตนเป็นภาพยนตร์แสดงให้ประชาชนดู ดังนั้นในการสร้างงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์ การมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดงานศิลปกรรมหรืองานภาพยนตร์จึงเป็นสาระสำคัญของการที่จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มิได้ให้ความคุ้มครองสิ่งที่เป็นเพียงความคิด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนพิพาท เพียงการที่จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน โดยเสนอความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน อันเป็นการให้ความช่วยเหลือเสนอความคิดในฐานะที่เป็นคนรู้จักสนิทสนมกัน โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าได้มีการนำแนวความคิดตามที่จำเลยที่ 2 เสนอไปใช้ในการสร้างผลงานอุลตร้าแมนจริงหรือไม่ ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงทุนลงแรงหรือมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมน และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก
การพิจารณาว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น ต้องนำประเพณีและวิธีการปฏิบัติในการทำธุรกิจเพื่อหาผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าอุลตร้าแมน และผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโดยผู้เชี่ยวชาญ และการหาข้อพิรุธจากข้อความที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว กับพยานแวดล้อมอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกัน เช่น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้สิทธิตามสัญญาพิพาทแสวงหาประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินับจากวันทำสัญญาพิพาทล่วงพ้นไปถึง 20 ปี แต่กลับเพิ่งกล่าวอ้างถึงสัญญาพิพาทต่อโจทก์หลังจากที่ น. ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 1 ปี ในขณะที่ฝ่ายโจทก์ดำเนินการใช้สิทธิและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาโดยตลอดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำสัญญาพิพาทมากล่าวอ้างโต้แย้ง การที่จำเลยที่ 2 ขออนุญาตใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทต่อโจทก์อีกหลังจากทำสัญญาพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาหลังจากที่ น. ถึงแก่ความตายไม่กี่วัน โดยไม่ได้ระบุถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท การที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาพิพาทเปรียบเทียบกับเอกสารที่มีลายมือชื่อของ น. แล้วมีความเห็นว่า มิใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อความในสัญญาพิพาท ทั้งชื่อสัญญา ชื่อผลงานอุลตร้าแมนและรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนตอนที่ไม่ถูกต้อง การไม่กำหนดเวลาและค่าตอบแทนในการโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจ และการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ใช้สิทธิย้อนหลังอันจะมีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก และผิดปกติวิสัยของการทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในลิขสิทธิ์ เป็นต้น จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารที่ถูกทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาทไม่
แม้โจทก์ฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งมาในคดีเดียวกัน แต่ในคดีส่วนอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์เผยแพร่สมุดภาพระบายสีภาพอุลตร้าแมนหลังจากวันที่โจทก์ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.12 หรือ จ.25 ได้ไม่นาน ซึ่งเนื้อความในเอกสารดังกล่าวระบุเกี่ยวกับการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินรวมทั้งอุลตร้าแมนพิพาทด้วย แม้หนังสือดังกล่าวไม่มีผลเป็นการรับรองสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่การทำหนังสือดังกล่าวในระหว่างที่ยังพิพาทกันเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลชี้ขาด อาจทำให้จำเลยที่ 2 และจำเลยอื่นเข้าใจได้ว่ามีสิทธิทำซ้ำและดัดแปลงรูปภาพผลงานอุลตร้าแมน ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิอย่างเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสี่ เมื่อข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง และมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ตามฟ้อง จึงไม่มีค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระตามคำพิพากษา และกรณีไม่อาจสั่งให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนโดยเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม และสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากผลงานอุลตร้าแมนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ได้
จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีหาใช่ผู้โอนขายหรือผู้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดรายได้หรือผลประโยชน์จากค่าตอบแทนการโอนขายลิขสิทธิ์หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์และทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้อยคุณค่าลงจากจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนโดยการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสี ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี
จำเลยที่ 4 จัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีโดยเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน และไม่ได้ความว่าความเข้าใจว่าตนมีสิทธิจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีของจำเลยที่ 4 เป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ กับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้รับผลกำไรจากการนี้หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในทางแพ่งฐานกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดประโยชน์อันพึงได้รับจากการจัดพิมพ์สมุดภาพระบายสีออกจำหน่ายเพื่อประโยชน์ทางการค้าจากจำเลยที่ 4 ได้อีก
ค่าใช้จ่ายในการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์เสียไป เป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่อลูกค้าของโจทก์และบุคคลทั่วไป จึงถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64
สำหรับค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วเรียกเก็บเงินจากผู้ขายหรือจำหน่ายสินค้าที่มีตัวอุลตร้าแมนนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดี จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวคือผู้ที่ถูกจำเลยที่ 2 แจ้งความร้องทุกข์และเรียกเก็บเงินหาใช่โจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายนี้
การขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ละเว้นการกระทำต่างๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนพิพาทหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นต้นไป เป็นเรื่องการกระทำในอนาคตซึ่งยังมิได้มีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเช่นนี้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 10
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47

ผู้พิพากษา

สมศักดิ์ เนตรมัย
สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
เกรียงชัย จึงจตุรพิธ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android