คำพิพากษาย่อสั้น
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 30 (2) มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ โจทก์จึงอ้างเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยยกขึ้นอุทธรณ์ไว้ได้ โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการฯ เฉพาะการประเมินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากลูกหนี้รายบริษัทในเครือของโจทก์เท่านั้น ส่วนลูกหนี้รายที่เป็นกรรมการโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าการที่โจทก์ให้กรรมการกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยไม่มีเหตุผลอันสมควร การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องอ้างว่าโจทก์ให้ลูกหนี้ดังกล่าวกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยมีเหตุอันสมควร จึงเป็นประเด็นที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ หาใช่โจทก์อ้างเหตุเพิ่มเติมในประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ไว้แล้วไม่ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องในประเด็นนี้สำหรับลูกหนี้รายบริษัท น. กับบริษัท ซ. และบริษัท พ. นั้น แม้โจทก์อ้างแต่เพียงว่ายอดหนี้คลาดเคลื่อนทำให้การประเมินของเจ้าพนักงานไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือได้ว่าโจทก์โต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานสำหรับการประเมินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของลูกหนี้รายดังกล่าวไว้แล้ว โจทก์จึงอ้างว่าการประเมินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของลูกหนี้รายดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์ให้กู้ยืมโดยมีเหตุอันสมควรในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลได้ เพราะเป็นการยกเหตุผลอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลเห็นว่าการประเมินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของลูกหนี้รายดังกล่าวที่ได้โต้แย้งการประเมินไว้แล้วไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อโจทก์ยังมีหนี้สินต้องชำระ โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่สมควรจะให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย แม้จะเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับโจทก์ การที่โจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากบริษัทดังกล่าวจึงไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวตามราคาตลาดได้ ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 65 ทวิ (4)
เมื่อโจทก์ให้บริษัทต่าง ๆ และกรรมการกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยตามราคาตลาดเป็นรายรับตามมาตรา 91/16 (6) และถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระดอกเบี้ยแล้ว โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและการที่โจทก์ให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินหลายราย ไม่ว่าเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หรือเพื่อตอบแทนการทำงานของกรรมการดังที่โจทก์อุทธรณ์ ก็ถือว่าโจทก์ประกอบกิจการตามปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
โจทก์ให้บริษัท พ. และบริษัท จ. กู้ยืมเงินไปก่อนที่โจทก์จะเข้าถือหุ้นในบริษัททั้งสองเกินร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมด โจทก์กับบริษัททั้งสองจึงมิใช่บริษัทในเครือเดียวกันตามความหมายของบริษัทในเครือเดียวกันดังที่ระบุในข้อ 2 วรรคสอง ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 26/2534 โจทก์จึงมิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของลูกหนี้รายบริษัท พ. และบริษัท จ. มาคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ