คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2511

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

จำเลยทำสัญญาประกันผู้ต้องหาจากพนักงานสอบสวน แล้วผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามนัด จำเลยย่อมมีหน้าที่ใช้เงินตามสัญญา ไม่จำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญา
เงินที่จำเลยผู้ประกันสัญญาจะใช้เมื่อผิดสัญญาประกัน มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อจำเลยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด ก็เป็นการผิดสัญญา ย่อมต้องใช้เบี้ยปรับ การนำตัวผู้ต้องหามาส่งภายหลังหรือคดีนั้นมีการสั่งไม่ฟ้องหรือผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ หาทำให้จำเลยพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไม่ เป็นแต่เพียงเหตุในการใช้ดุลพินิจว่าควรปรับมากน้อยเพียงใด (อ้างฎีกาที่ 1072/2491 และ1039/2499)
พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับคำร้องขอประกันผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมอยู่ ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล และเป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาสั่งคำร้อง แล้วให้ผู้ร้องทำสัญญาประกัน จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ย่อมเป็นโจทก์ฟ้องผู้ประกันซึ่งผิดสัญญาประกันได้ (อ้างฎีกาที่ 701/2498)
นายตำรวจสองนายซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจเดียวกันคนหนึ่งลงชื่อเป็นผู้รับสัญญาประกันอีกคนหนึ่งลงชื่อเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาประกัน เป็นการกระทำของบุคคลในตำแหน่งหน้าที่เดียว ไม่ใช่ทำแทนกัน และหน้าที่ปฏิบัติดังกล่าวเป็นอำนาจของตำแหน่งหน้าที่ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ จึงฟ้องคดีโดยระบุตำแหน่งหน้าที่ และระบุนามบุคคลซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เป็นคู่ความได้(อ้างฎีกาที่ 2106-2108/2492)
กรณีจำเลยผู้ประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด พนักงานสอบสวนย่อมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนผู้ต้องหาได้ จึงเป็นการเสียหายต่อราชการ เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันและมีหน้าที่ชำระเบี้ยปรับแล้วไม่ชำระ เป็นการผิดนัด ย่อมต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
การที่จำเลยร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความร่วม อ้างว่ามีส่วนได้เสียร่วมกับจำเลย ซึ่งจำเลยจะใช้สิทธิไล่เบี้ยได้นั้น หากศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็น จะไม่เรียกเข้ามาก็ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113

ผู้พิพากษา

ชลัม รุทระวณิช
สวิง ลัดพลี
ลออง จุลกะเศียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android