คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2543

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีป้ายตามกฎหมายแต่ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีป้ายของโจทก์ที่กระทำต่อจำเลยในกรณีที่ ตรวจพบว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิมซึ่งจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้วอันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียภาษีป้ายอีกในป้ายเดียวกัน กลับไม่มี รายละเอียดแสดงขั้นตอนนับแต่ บ. ตรวจสอบพบว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลง แก้ไขป้ายเดิมว่าเหตุใดจึงตรวจพบ ไม่มีรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือ ขออนุมัติไปตรวจสอบและเมื่อตรวจสอบแล้วก็หามีรายงานเสนอต่อ ผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับผลการตรวจสอบดังกล่าวนี้ไม่เป็นการผิดปกติวิสัยของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดเก็บภาษีป้ายในกรณีที่ผู้เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคสองแห่ง พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้าย(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 9 บังคับให้เจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ แต่จำเลยมิได้ยื่นแบบดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องประเมินภาษีป้ายเช่นเดียวกับกรณีปกติและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือให้เจ้าของป้ายทราบตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประกอบด้วยมาตรา 29 เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำมาสืบไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินภาษีป้ายของจำเลยสำหรับกรณีที่ จำเลยได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายเดิม พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ย่อม ไม่มีอำนาจที่จะออกหนังสือแจ้งการประเมินอันเป็นการข้ามขั้นตอน ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ส่งหนังสือแจ้งการประเมิน (ภ.ป.3) ไปยังจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้มีการประเมิน ให้จำเลยเสียภาษีป้าย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียภาษีป้าย แม้ว่า จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจะถือว่าจำเลยยอมรับ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องหาได้ไม่ เพราะขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 ประกอบพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 การที่ศาลภาษีอากรพิจารณาจากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมานั้นแล้ว วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำการ ประเมินภาษีป้ายและแจ้งการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีที่จำเลย เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นจึงชอบแล้ว และเมื่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ของโจทก์มิได้ทำการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระภาษีป้ายส่วนที่จำเลย ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในป้ายเดิมนั้นได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 10
  • พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 14
  • พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 15
  • พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 17
  • พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 29
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

ผู้พิพากษา

พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา
สันติ ทักราล
เรืองฤทธิ์ ศรีวรรธนะ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android