คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2527

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยใช้ลูกกุญแจปลอมไขกุญแจประตูรถและติด เครื่องยนต์มิใช่เป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับ คุ้มครองทรัพย์ และกุญแจประตูรถเป็นส่วนหนึ่งของรถ จำเลยลักรถยนต์ไปทั้งคัน ถือไม่ได้ว่าเป็นการลักทรัพย์โดยผ่านสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ตาม มาตรา 335(3) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักรถยนต์โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานยศร้อยตรี อันเป็นการมุ่งประสงค์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) ฐานลักทรัพย์โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานมิได้ประสงค์ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์โดยแปลงหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่นตามมาตรา 335(5)การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม มาตรา 335(5) จึงเป็นการลงโทษในเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 335(6) โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาจึงคงลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 เท่านั้น ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพ.ศ. 2526 มาตรา 4 ใช้บังคับบัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 6 เมษายน 2525 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้น ๆ ปรากฏว่าความผิดฐานรับของโจร ที่โจทก์ถือเป็นเหตุ ขอเพิ่มโทษจำเลยนั้น จำเลยได้กระทำก่อนวันที่ 6 เมษายน 2525 และได้พ้นโทษไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2525 จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216
  • พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2526 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

บุญส่ง คล้ายแก้ว
ปรีชา พานิชวงศ์
ปรานอม มหรรณพ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android