คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องไม่ได้ระบุไว้โดยตรงว่า การกระทำผิดวินัยกรณีใดถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง จึงต้องพิเคราะห์พฤติการณ์เป็นรายกรณีไป กรณีของผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างและกรรมการสหภาพแรงงานองค์การค้าของผู้ร้องขอลาป่วยต่อผู้ร้องทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยจำนวน 3 วัน แล้วไปดำเนินคดีที่ศาลแรงงานกลางให้แก่ ว. ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ร้องหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของผู้ร้องการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาและเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายและหลีกเลี่ยงหน้าที่การงาน นอกจากนี้ผู้คัดค้านยังถือโอกาสที่ได้รับอนุญาตให้ไปข้างนอกเพื่อกระทำกิจกรรมให้แก่สมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาที่ศาลแรงงานกลางแล้วไปดำเนินคดีให้แก่ว.หลายครั้งหลายหนโดยใช้วิธีนัดวันให้ตรงกันแต่ต่างเวลากัน หากวันนัดไม่ตรงกัน ผู้คัดค้านก็จะใช้วิธีขอลากิจหรือลาป่วยแทนเพื่อไปดำเนินคดีให้แก่ ว. และยังปรากฏว่าผู้คัดค้านขอใช้สิทธิออกไปข้างนอกเพื่อกระทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานองค์การค้าของผู้ร้องและกระทำกิจกรรมส่วนตัวในปี 2526-2527 มีจำนวน 68 ครั้งเป็นเวลา 310 ชั่วโมงเศษ และในปี2527-2528 มีจำนวน 82 ครั้งเป็นเวลา 390 ชั่วโมงเศษ ซึ่งผู้ร้องย่อมขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำผิดวินัยฐานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาไม่รักษาผลประโยชน์ของนายจ้างและไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอันถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา 123 แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123

ผู้พิพากษา

สุรัตน์ ศรีอนุพันธุ์
จุนท์ จันทรวงศ์
จำนง นิยมวิภาต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android