คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ข้อที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาว่าการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยและจำเลยร่วมมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การ การที่จำเลยและจำเลยร่วมมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การไว้แต่ศาลชั้นต้นจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็เห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัย
แม้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 จะบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เมื่อปรากฏว่าได้ออกโดยคลาดเคลื่อน เช่น ออก น.ส.3 ทับที่ของบุคคลอื่นแต่ก็มิได้หมายความว่าเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขน.ส.3 ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายและมิได้หมายความว่าการเพิกถอนหรือแก้ไข น.ส.3 ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องดำเนินการตามวิธีการตามที่มาตรา 61 บัญญัติไว้เพียงประการเดียว ในบางกรณีคู่กรณีอาจเห็นว่าการดำเนินการตามมาตรา 61 อาจไม่ทันการหรือเกิดความล่าช้าเนื่องจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งประวิงเวลาไว้ เช่นนี้ คู่กรณีก็มีสิทธิดำเนินคดีทางศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขการออกน.ส.3โดยคลาดเคลื่อนหรือโดยไม่ชอบนั้นได้ ดังจะเห็นได้จากความในวรรคท้ายแห่งมาตรา 61 ว่า 'ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา71 ดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด' ส่วนบทบัญญัติมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก็เป็นเรื่องที่คู่กรณีโต้แย้งสิทธิในการออกโฉนดที่ดินและกำหนดระยะเวลาการฟ้องร้องไว้ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณาสั่งในปัญหาพิพาทนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 60,61 หาได้มีข้อห้ามมิให้ฟ้องคดีหากมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้เองหากสิทธิของโจทก์ถูกโต้แย้งตามบทบัญญัติมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
การที่โจทก์ทั้งสองขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินของตนในการรังวัดสอบเขตครั้งนี้มี ส.ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ไประวังแนวเขตได้ยืนยันว่ามีการรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย ส. จึงไม่ยอมรับรองแนวเขตด้านนี้ เมื่อ ส.ขอรังวัดสอบเขตที่ดินของจำเลยส. ก็ยืนยันว่าที่ดินที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าเป็นของโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นที่ดินของจำเลย นอกจากนี้ปรากฏตามรายงานผลการรังวัดตรวจสอบ น.ส.3 ของเจ้าพนักงานที่ดินลงวันที่ 28 มิถุนายน 2522 ถึงนายอำเภอมีข้อความสำคัญว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 กับพวกขอรังวัดสอบเขตปรากฏว่าเกิดกรณีสงสัยว่าที่ดินซึ่งจำเลยซื้อมาจะทับ น.ส.3ของโจทก์ที่1 จึงได้แจ้งให้จำเลยทราบ ครั้นจำเลยขอรังวัดสอบเขตจึงทราบแน่ชัดว่าน.ส.3ก. ของจำเลยทับ น.ส.3 ของโจทก์เป็นบางส่วน ดังนี้จึงเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นแล้วโจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจเสนอคดีต่อศาลหรือมีอำนาจฟ้องคดีได้
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิกถอน น.ส.3ก.ของจำเลยส่วนที่ออกทับ น.ส.3ของโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าได้แย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์จึงไม่มีประเด็นในเรื่องกำหนดเวลาการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60
  • ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61
  • ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71

ผู้พิพากษา

สหัส สิงหวิริยะ
เสวก จันทร์ผ่อง
สาระ เสาวมล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android