คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183/2528

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินและรถยนต์ที่ต.ลูกหนี้โจทก์ทำขึ้นก่อนตายโดยขอให้ทายาทของต. รับผิดชดใช้หนี้สินของ ต. แก่โจทก์ด้วยนั้น. แม้ปรากฏว่าขณะฟ้องต. ไม่มีทรัพย์มรดก และทายาทก็ไม่ได้รับมรดกของ ต. การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าว ก็เป็นการฟ้องเพื่อให้ทรัพย์ที่ ต. ยกให้บุคคลอื่นนั้นกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของ ต. โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องทายาทในฐานะผู้รับมรดกของ ต. ให้รับผิดต่อโจทก์ได้ แต่ทายาทของ ต. ก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ ตกทอดได้แก่ตน. การที่ศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาพิพากษายกฟ้องผู้ใต้บังคับบัญชาของ ต.ในข้อหายักยอกเงินของโจทก์แล้ว.แต่ต. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการเงินของโจทก์ ก็ยังทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้เงินของทางราชการที่ขาดหายไปให้แก่โจทก์.แสดงว่า ต. คงจะรู้ว่าตนปฏิบัติหน้าที่บกพร่องจึงยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้เช่นนั้น ดังนี้ จะถือว่า ต.ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไปโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมหาได้ ไม่. หนี้ที่ ต. ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการสมรส เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อ จนต้องรับผิด ชดใช้เงินให้ทางราชการนั้น มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 เดิม หรือมาตรา 1490 ใหม่. ที่ดินที่บิดาจำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลย ที่ 1 สมรสกับต.แล้ว. และการยกให้มิได้ระบุว่าให้ เป็นสินส่วนตัว ถือเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยกให้ ต. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอยู่ครึ่งหนึ่ง. กรณีที่ ต. ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินและรถยนต์ พิพาทและต. มีหนี้ที่ค้างชำระอยู่เป็นเงินถึง 153,342 บาทเศษ ซึ่ง ต. รู้ดีว่าการผ่อนชำระให้แก่โจทก์ เดือนละ 300 บาท ย่อมไม่ทำให้หนี้หมดไปในขณะที่ ต.ยังมีชีวิตอยู่ ฉะนั้น การที่ ต. ให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและรถยนต์พิพาทที่ เป็นเจ้าของอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง ให้แก่บุตรโดยเสน่หาย่อม เป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้. แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ที่ก่อหนี้ขึ้นโดยตรง แต่เมื่อ จำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้แก่โจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทของ ต.และโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยย่อม ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจาก จำเลยได้.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

วีระ ทรัพยไพศาล
สุชาติ จิวะชาติ
ยรรยง อิทธิพงษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android