คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินที่จะขายฝาก จำเลยที่ 1 กลับชี้ให้โจทก์ดูที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 2 เคยพาบุคคลอื่นไปดู ซึ่งมิใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงนายหน้าของจำเลยที่ 1 หรือเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายต่อให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดินหรือไม่ เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์หลงเชื่อและรับฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนนลาดยางตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการขายฝากที่ดินมิได้เกิดมีขึ้น และไม่ก่อสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 1 ที่จะยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันหลอกลวงโจทก์โดยนำชี้และอ้างว่าที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์หลงเชื่อ จึงรับซื้อฝากและมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง ความจริงแล้วที่ดินโฉนดดังกล่าวอยู่ห่างไกลถนนและมีราคาต่ำกว่าที่โจทก์รับซื้อฝากไว้มากหากโจทก์ทราบความจริงจะไม่รับซื้อฝาก การบรรยายฟ้องดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในลักษณะเล่าเรื่องให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ก็ดี หรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยข้อเท็จจริงและฟังว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 ก็ดี จึงเป็นการปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยถึงสิทธิของคู่ความแต่ละฝ่าย ซึ่งหากจำเลยทั้งสองมิได้หลอกลวงโจทก์และโจทก์มิได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดแล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง กรณีมิใช่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องหรือพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์หลงเชื่อและเสียเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,500,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินที่ซื้อฝากซึ่งโจทก์ได้มอบให้แก่จำเลยทั้งสองไปนั้น มิใช่คำฟ้องในเรื่องละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี เพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสองผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ด้วย ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเช่นนี้ ส่วนดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายนั้นคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ฟ้องคดีในระหว่างที่คดีอาญายังไม่เด็ดขาด จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336

ผู้พิพากษา

ชัชลิต ละเอียด
สมชัย จึงประเสริฐ
บุญรอด ตันประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android