คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

การที่สัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ร้องกับจำเลยมีความข้อ 6ระบุว่าเมื่อลูกหนี้ผู้กู้ผิดสัญญากับผู้ร้อง จำเลยผู้ค้ำประกันยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่จำเลยมีอยู่กับผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ได้ ข้อ 7 ระบุให้จำเลยถอนเงินคืนไปได้ต่อเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้ผู้ร้องลดลงเหลือไม่เกินราคาหลักทรัพย์ที่ผู้ร้องประเมินเป็นหลักประกัน และข้อ 8 ระบุให้ผู้ร้องมีสิทธิเพียงยึดถือสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยฝากไว้นั้นเป็นประกันตลอดไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ครบถ้วน และจำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้ร้องรวมตลอดถึงลูกหนี้ซึ่งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันได้ทันทีนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวให้ผู้ร้องแล้ว เพราะจำเลยยังคงมีสิทธิถอนเงินคืนไปได้เมื่อมีกรณีตามสัญญาข้อ 7 และการที่ผู้ร้องจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผู้กู้ผิดสัญญากับผู้ร้องตามสัญญาข้อ 6 หรือจำเลยหรือลูกหนี้ผู้กู้ก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องตามสัญญาข้อ 8 เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของตนได้
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลแพ่งได้พิพากษาให้ลูกหนี้ผู้กู้ซึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้รวม 3 รายกับจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้แก่ผู้ร้องแล้วและการขออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ผู้กู้และจำเลยแล้วนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288

ผู้พิพากษา

อำนวย อินทุภูติ
ดำริ ศุภพิโรจน์
สมศักดิ์ จูสวัสดิ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android