คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3313/2530

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ได้ยึดผ้าของโจทก์โดยอ้างว่า เป็นผ้าที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากตรวจสอบหลักฐานแล้วเห็นว่าผ้าที่ถูกยึดไม่ตรงกับผ้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการยึดโดยมีเหตุผลอันควรสงสัยว่าผ้าที่ยึดนั้นได้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้ กรณีไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยึดผ้าของโจทก์ไว้สอบสวนเป็นเวลาถึง5 เดือนเศษ เพราะไม่อาจแยกพิจารณาเฉพาะ ผ้าของโจทก์ก่อนผ้ารายการอื่นได้เนื่องจากยึดมาจากแหล่ง เดียวกัน ต้องส่งผ้าที่ยึดไปกองวิเคราะห์สินค้าทำการวิเคราะห์ ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามเจ้าของโรงงานที่ผลิตและฟอก ย้อม สอบสวนชิปปิ้ง ทำหนังสือไปถึงกองประเมินอากรกับกองตรวจสินค้าขาเข้าแล้ว และเสนอความเห็นไปยังกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 พร้อมกันทั้ง 7 รายการ เช่นนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีการกลั่นแกล้งโจทก์ ทั้งโจทก์เพิ่งนำชิปปิ้งมาให้สอบสวนหลังจากการยึดผ้าประมาณ 3-4 เดือน โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้เวลาสอบสวนเกี่ยวกับผ้าพิพาทนานเกินสมควรหรือจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับผ้ามิใช่ทรัพย์สินที่เสื่อมสลาย ได้ง่าย ไม่มีเหตุจำเป็นต้องพิจารณาสอบสวนโดยเร่งรัดเป็นพิเศษ ในที่สุดจำเลยคืนผ้าให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421

ผู้พิพากษา

ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล
สมศักดิ์ เกิดลาภผล
สาระ เสาวมล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android