คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2898/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ฎีกาว่าข้อนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายหรือโฆษณาต่อประชาชนให้ไปทำงานในประเทศตะวันออกกลาง และไม่นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ตั้งใจส่งผู้เสียหายไปทำงานยังต่างประเทศเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฉ้อโกงมาแต่ต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาแต่เป็นความรับผิดทางแพ่ง เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
แม้ว่าวันเกิดเหตุของคดีความผิดฐานฉ้อโกงในคดีนี้จะคาบเกี่ยวกันกับคดีแรก แต่ผู้เสียหายเป็นคนละชุดกัน ถูกหลอกลวงต่างวันหรือต่างเวลากัน เงินที่ถูกหลอกลวงก็เป็นคนละจำนวนกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ซ้ำซ้อนกับคดีแรก
ปัญหาที่ว่ามีการกระทำผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตหลายกรรมหรือไม่ต้องพิจารณาว่าการจัดหางานนั้นได้กระทำต่อเนื่องเป็นคราวเดียวกันหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าเป็นการจัดหางานให้แต่ละคนหรือแต่ละช่วงเวลาตามแต่จะกำหนดเป็นสำคัญ เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสามได้ออกอุบายตั้งสำนักงานจัดหางานให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งการกระทำผิดในคดีนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาคาบเกี่ยวต่อเนื่องกับคดีแรกโดยไม่ปรากฏว่ามีการหยุดดำเนินกิจการในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาดำเนินการในการจัดหางานคราวเดียวกันการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีในความผิดฐานนี้จึงเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานจัดหางาน ฯ จึงซ้อนกับคดีแรก ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ฎีกาที่ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนนั้นเป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัย
เมื่อฟ้องโจทก์บางฐานความผิดเป็นฟ้องซ้อน ถือได้ว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษในฐานความผิดที่เป็นฟ้องซ้อนด้วย.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2511 มาตรา 19

ผู้พิพากษา

สัมฤทธิ์ ไชยศิริ
มาโนช เพียรสนอง
สุพจน์ นาถะพินธุ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android