คำพิพากษาย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าอย่างไร และว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตนั้น มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและตามทางไต่สวนมูลฟ้องที่โจทก์นำสืบ คำสั่งดังกล่าวจึงปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(5)แล้ว
คำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่แสดงถ้อยคำสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการกองสารวัตรอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยละเอียด ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้นสังกัดของจำเลยดำเนินการเกี่ยวแก่การโฆษณาขายรองเท้าสุขภาพของโจทก์ไปแล้วประการใดและมีความเห็นว่าการโฆษณาของโจทก์เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติยาเป็นประการใดโดยฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ และการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งได้กระทำไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิด ดังนี้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ปรากฏเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186(6) แล้ว.
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ หากเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ชอบที่จะยกฟ้องเสียได้ หาเป็นการก้าวล่วงผิดกระบวนพิจารณาไม่
ฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล และฎีกาว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลชั้นต้นก็มิได้ฟังฝ่าฝืน ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 โจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมาอีกหาได้ไม่
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 เพียงแต่เป็น'เจ้าของหนังสือพิมพ์' แต่มิได้กระทำการอันใด ซึ่งย่อมหมายความได้ว่าจำเลยที่ 4 มิได้จัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ตามบทนิยามของคำว่า 'ผู้พิมพ์' ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 มาตรา4 เมื่อจำเลยที่ 4 มิใช่ 'ผู้พิมพ์' ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่4 จึงไม่มีมูลที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาในความผิดตาม มาตรา48 แห่ง พระราชบัญญัติ ดังกล่าว.(ที่มา-ส่งเสริม)