คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ในกรณีที่ผู้นำของเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากรให้คืนเงินอากรขาเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ หรือไม่ก็ตาม จะนำของไปจากอารักขาของศุลกากรก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจนครบถ้วนเสียก่อน เว้นแต่จะได้วางประกันค่าอากรไว้ต่ออธิบดีกรมศุลกากร ตามมาตรา 40 และมาตรา 112 ซึ่งกระทำได้ 2 วิธีคือ วิธีหนึ่งวางเงินไว้เป็นประกัน อีกวิธีหนึ่งนำหนังสือค้ำประกันของกระทรวงการคลังหรือธนาคารมาวางเป็นประกัน
ในการวางเงินเป็นประกัน ถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งให้ทราบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และเงินประกันที่วางไว้คุ้มค่าอากรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินแล้ว ก็ให้เก็บเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าอากรตามจำนวนที่ประเมินได้ทันที และให้ถือเสมือนว่าผู้นำของเข้าได้ชำระเงินอากรที่ได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้วตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสอง
กรณีการนำหนังสือค้ำประกันของกระทรวงการคลัง หรือธนาคารมาวางเป็นประกันมิได้มีบทบัญญัติมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินแจ้งให้ทราบแล้วภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ให้เรียกเก็บเงินจากผู้ค้ำประกันได้ทันที และให้ถือเสมือนว่าผู้นำของเข้าได้ชำระเงินอากรที่ได้แจ้งภายในเวลาที่กำหนดข้างต้นแล้ว
จำเลยนำของเข้ามาผลิต ผสม หรือประกอบ เพื่อส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศหรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือเดินทางไปเมืองต่างประเทศเพื่อขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปวางเป็นประกันและรับของมาจากศุลกากรยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแล้ว การที่ศุลกากรปล่อยหรือมอบของให้จำเลยมาโดยยอมรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันก็เป็นเพียงผ่อนผันการชำระค่าอากรขาเข้าให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยมิได้ผลิตผสมหรือประกอบของที่นำเข้ามาส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับคืนอากรขาเข้าตามมาตรา 19 ทวิ(ง) และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะนำอากรขาเข้าตามที่เจ้าหน้าที่ได้ประเมินไว้ไปชำระมิใช่เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องติดตามทวงถามให้จำเลยชำระค่าอากรดังกล่าว และตามพระราชบัญญัติศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดีมิได้กำหนดระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ประเมินติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าอากรขาเข้าเมื่อใดก็ได้ ภายในอายุความเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าอากรที่ต้องเสียก็ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา
สำหรับภาษีการค้า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคท้ายได้บัญญัติไว้ว่า เงินเพิ่มตามมาตรานี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 89 ซึ่งคำว่าเงินเพิ่มตามมาตรานี้หมายความว่าเงินเพิ่มที่คิดร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระไม่ว่าจะเป็นเงินเพิ่มที่คิดก่อนหรือภายหลังนำเงินที่วางประกันหรือที่ผู้ค้ำประกันมาหักเมื่อรวมแล้วเงินเพิ่มจะต้องไม่เกินเงินภาษีการค้าที่ต้องชำระ.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 89
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 40
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ทวิ
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา
  • พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ทวิ

ผู้พิพากษา

สมศักดิ์ จูสวัสดิ์
ชูเชิด รักตะบุตร์
เสวก จันทร์ผ่อง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android