คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8834/2542

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8(11) เป็นบทบัญญัติห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะได้รับจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดแล้วหรือไม่ และห้ามนายทะเบียนโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มิได้ให้คำนิยามหรือความหมายของคำว่า "เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป" เอาไว้ด้วย เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้ารวมทั้งที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าปลอมหรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ข้อตกลงทริปส์(TRIPsAgreement) อยู่ด้วยซึ่งในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติในข้อ 6 ทวิ แห่งอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (1967) บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงความเป็นที่รู้จักของเครื่องหมายการค้านั้นในกลุ่มของสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเป็นที่รู้จักกันในประเทศภาคีสมาชิกนั้นอันเป็นผลเนื่องมาจากการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วยอนุสัญญากรุงปารีส ข้อ 6 ทวิ (1)ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ประเทศภาคีสมาชิกตกลงไม่รับจดทะเบียนหรือเพิกถอนการจดทะเบียนและห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่เกิดจากการทำซ้ำเลียนหรือแปลเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในประเทศที่จดทะเบียนหรือใช้เครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนกับเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งเป็นของบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองตามอนุสัญญานี้ และได้ใช้สำหรับสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน ทั้งนี้ไม่ว่าจะโดยอำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงาน หรือโดยการร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียบทบัญญัติดังกล่าวนี้บังคับกับกรณีที่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเป็นการทำซ้ำ ซึ่งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป หรือเป็นการเลียนเครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนหลงผิดด้วยแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญา กรุงปารีสแต่ประเทศไทยก็ได้ให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และประเทศไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกประเทศหนึ่งในข้อตกลงทริปส์ ซึ่งโดยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศประเทศไทยมีพันธกรณีต้องผูกพันตามข้อตกลงทริปส์อันเป็นความตกลงระหว่างประเทศนั้นด้วย ดังนี้ ความหมายหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์ จึงอาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการตีความหรือแปลความหมายของคำว่า "เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป" ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ 39068 มีลักษณะเป็นรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบน ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบนของสโมสรฟุตบอลเอซีมิลาน แตกต่างกันเพียงขนาดของเครื่องหมายเท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39067 ที่มีลักษณะคล้ายโล่ซ้อนกัน 2 ชั้น รูปโล่ชั้นในมีรูปถ้วยรางวัลและมีลายเป็นเส้นตรงแนวตั้งจำนวน 4 เส้น มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายรูปโล่ของสโมสรฟุตบอลปาร์มาเอซี แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวไม่มีรูปถ้วยรางวัล แต่มีเครื่องหมายเป็นรูปกากบาทแทนกับมีคำว่า "PARMAA.C." อยู่ด้านบน และรูปโล่มิได้มี 2 ชั้น อย่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39066 เป็นรูปคล้ายโล่มีตัวอักษรโรมันเด่นชัด 3 ตัว คือ AFA และรูปหรีดใบไม้อยู่ภายในคล้ายกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่ของทีมฟุตบอลชาติอาร์เจนตินาซึ่งมีตัวอักษรโรมันว่าAFAพร้อมพู่ดอกไม้คล้ายหรีดของโจทก์ห้อยลงมา ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39254 ที่เป็นรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ในวงกลมก็คล้ายกับเครื่องหมายรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ภายในวงกลมของสโมสรฟุตบอลอาแอกซ์อัมสเตอร์ดัม ต่างกันเพียงเครื่องหมายของโจทก์ไม่มีคำว่า"AJAX" อยู่ด้านบนโค้งของวงกลมเยื้องไปทางซ้าย กับไม่มีคำว่า"AMSTERDAM" อยู่บนโค้งของวงกลมด้านล่างเยื้องมาทางขวาอย่างในเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวเท่านั้น ลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวทุกประการคงแตกต่างกันเฉพาะในส่วนปลีกย่อยเท่านั้น เมื่อนำเครื่องหมายดังกล่าวไปติดกับเสื้อกีฬาหากไม่สังเกตให้ดีและด้วยความระมัดระวังย่อมยากที่จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวได้ เมื่อได้นำเครื่องหมายนั้นไปใช้กับสินค้าเสื้อกีฬา ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเสื้อกีฬานั้นได้เครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยและรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอลย่อมถือได้ว่าเครื่องหมายของทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงอย่างทีมชาติอาร์เจนตินาทีมสโมสรเอซีมิลานจูเวนตุสปาร์มาเอซีและอาแอกซ์อัมสเตอร์ดัมเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอลอันเป็นกลุ่มของสาธารณชนส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการพิจารณาว่าเครื่องหมายใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งห้าเครื่องหมายของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศ และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าเสื้อกีฬาเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้เครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวจะยังมิได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ตามเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กรณีเช่นนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นได้ตามมาตรา 61 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ตามมาตรา 65
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 81
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 94

ผู้พิพากษา

พินิจ เพชรรุ่ง
สมคิด ไตรโสรัส
ประชา ประสงค์จรรยา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android