คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5917/2533

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แท้จริงแล้วน้องชายโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่น้องชายโจทก์โอนหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เป็นการโอนหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญารับสภาพหนี้ด้วยความหวาดกลัว แต่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีไว้ว่าสัญญารับสภาพหนี้เป็นเอกสารปลอมที่โจทก์ทำขึ้นเอง ลายมือชื่อก็ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีมูลหนี้ต่อโจทก์ไม่ถึงตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้นข้อที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาดังกล่าวเป็นข้อที่นอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก พฤติการณ์ที่ร้านค้าของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันชื่อเหมือนกับชื่อหมู่บ้านที่โจทก์ส่งวัสดุก่อสร้างมาให้จำเลยทั้งสองเคยไปดูแลการทำงานของช่างก่อสร้างในหมู่บ้านดังกล่าวและบ้านของจำเลยทั้งสองถูกใช้เป็นสำนักงานโดยมีเสมียนเข้าไปทำงานในบ้านของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาชำระหนี้และบันทึกข้อความในฐานะภริยาผู้ให้ความยินยอมแสดงให้เห็นได้ว่ากิจการก่อสร้างหมู่บ้านดังกล่าวเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาทำด้วยกัน ดังนั้นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องเป็นลูกหนี้ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(3).
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

ไมตรี กลั่นนุรักษ์
จรัส อุดมวรชาติ
อุไร คังคะเกตุ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android