คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2529

 แหล่งที่มา: ADMIN
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เหตุจำเป็นที่ไม่อาจเสนอใบลาหรือไม่อาจรอรับอนุญาตให้ลากิจส่วนตัวได้ตามข้อบังคับของจำเลยหมายถึงเหตุที่ลูกจ้างไม่สามารถยื่นใบลาก่อนหยุดงานหรือยื่นใบลาไว้แล้วแต่ไม่สามารถรอฟังคำสั่งอนุญาตของจำเลยได้มิได้หมายถึงความสำคัญหรือความจำเป็นของธุรกิจการงานซึ่งลูกจ้างจะต้องไปกระทำมิฉะนั้นข้อบังคับจะไร้ผลเพราะในกรณีที่ลูกจ้างได้รับหนังสือหรือโทรเลขเรียกตัวกลับบ้านโดยมิได้ระบุรายละเอียดของธุรกิจการงานหรือระบุรายละเอียดอันเป็นเท็จลูกจ้างก็ไม่อาจหยุดงานไปก่อนได้ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นใบลากิจส่วนตัวต่อจำเลยโดยแนบโทรเลขซึ่งได้รับจากญาติซึ่งแจ้งให้โจทก์กลับบ้านด่วนนั้นเป็นการยื่นใบลาพร้อมทั้งชี้แจงเหตุจำเป็นซึ่งไม่อาจรอฟังคำสั่งอนุญาตจากจำเลยถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยแล้วแม้ธุรกิจการงานที่โจทก์ลาไปทำนั้นเป็นเพียงไปกู้เงินให้พี่ชายไปทำงานต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่โจทก์เพิ่งทราบภายหลังจำเลยจะถือเป็นข้ออ้างไม่อนุมัติใบลาของโจทก์ไม่ได้. จำเลยไม่อนุมัติใบลาของโจทก์โดยถือว่าโจทก์ขาดงานและมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์และตัดค่าจ้างเป็นเงิน348บาทโดยไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างที่ตัดได้ส่วนดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224เพราะเป็นเงินค่าจ้างซึ่งจำเลยตัดโดยมีกรณีกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยไม่ใช่เงินค่าจ้างซึ่งจำเลยผิดนัดในการจ่ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯข้อ31เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดวันใดหรือโจทก์ทวงถามจำเลยแล้วหรือไม่ศาลให้รับผิดตั้งแต่วันฟ้อง จำเลยถือเอาเหตุที่โจทก์ขาดงานครั้งนี้เป็นเหตุผลหนึ่งประกอบการพิจารณาไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้โจทก์เมื่อเหตุดังกล่าวไม่อาจถือเป็นความผิดของโจทก์การที่จำเลยนำเหตุนี้ไปประกอบการพิจารณาเป็นโทษแก่โจทก์ย่อมเป็นการไม่ชอบแต่เมื่อตัดเหตุดังกล่าวออกแล้วยังมีเหตุอื่นอีกหลายประการที่จำเลยใช้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีจำเลยจึงต้องพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีของโจทก์ใหม่.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 11
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 11

ผู้พิพากษา

เพียร สุมิระ
สมบูรณ์ บุญภินนท์
สุพจน์ นาถะพินธุ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android