คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2532

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยมิได้ระบุห้ามก่อการวิวาทหรือชกต่อยกันนอกโรงงานหรือบริษัทฯ แต่ สาเหตุที่โจทก์ชกต่อยพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียว กับโจทก์ก็เนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ของหัวหน้างาน แม้จะเป็นการกระทำนอกโรงงานหรือบริษัทของจำเลย ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่ พนักงานด้วยกันของจำเลย และอาจเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการดำเนินงานของจำเลยตลอดจนอำนาจบังคับบัญชาของหัวหน้างานต่อไปในภายหน้า การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ชกต่อยหัวหน้างานนอกเวลาทำงานและนอกบริเวณโรงงานหรือบริษัทของจำเลย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้ลุล่วงไปโดย ถูกต้องและสุจริตตาม ความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583แต่เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตาม บทมาตราดังกล่าว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6กำหนดว่า "ในวันทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างได้ ทำงานในวันนั้นมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง ฯลฯ" เมื่อนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างได้ มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ย่อมเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างต้อง ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติไปจำนวนวันละ 1 ชั่วโมงเต็ม ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าจ้างส่วนที่ทำงานเกินไปนี้จากนายจ้าง โดยเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละวันที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง สิทธิที่จะได้รับค่าครองชีพเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นตาม บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างมีสิทธิกำหนดหรือตกลง ให้เป็นไปตาม เจตนารมณ์ของนายจ้างได้ เมื่อนายจ้างได้ บันทึกข้อตกลงไว้ว่า ลูกจ้างประจำเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพก็ต้อง เป็นไปตามนั้นแม้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่ง ทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 120 วัน และมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ก็ย่อมหมายถึง สิทธิที่ลูกจ้างประจำมีอยู่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยในระหว่างกำหนดเวลาที่โจทก์เรียกร้องค่าครองชีพ จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 10
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583

ผู้พิพากษา

นำชัย สุนทรพินิจกิจ
มาโนช เพียรสนอง
ศักดา โมกขมรรคกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android