คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2531

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและปกครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น ขอแบ่งทรัพย์มรดกแม้จะฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองก็จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754มาใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ที่ 2 เคยฟ้องขอแบ่งส่วนทำบุญทำทานตามที่เจ้ามรดกสั่งไว้ในพินัยกรรม โจทก์ที่ 3 เคยฟ้องขอแบ่งมรดก โจทก์ที่ 4เคยร้องต่อ ศาลขอให้เพิกถอนจำเลยทั้งสองจากการเป็นผู้จัดการมรดกโจทก์ที่ 5 ก็เคยฟ้องจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกเคยฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 5 ออกจากที่ดินกองมรดก แต่ไม่ปรากฏว่าได้พิพาทกันในประเด็นว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นโมฆะหรือไม่ดังนั้น ที่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่าพินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ พินัยกรรมที่กำหนดยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้มีชื่อถือหุ้นในบริษัทโดยให้แต่ละคนมีส่วนเฉลี่ยตามจำนวนหุ้น ซึ่งเจ้ามรดกก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าวด้วยนั้น เป็นพินัยกรรมที่กำหนดตัวผู้รับพินัยกรรมโดยทราบตัวได้แน่นอนแล้วตามรายชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีอยู่ในขณะผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย พินัยกรรมส่วนนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 มีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ส่วนที่ปรากฏว่าเจ้ามรดกก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทด้วย จึงเท่ากับเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ตนเองนั้น ย่อมเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1646 ไม่มีผลบังคับทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับยอมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม พินัยกรรมซึ่งมีข้อความให้ผู้จัดการมรดกและผู้ถือหุ้นซึ่งได้รับทรัพย์มรดกมาตามพินัยกรรมโอนทรัพย์มรดกให้เป็นการเพิ่มทุนของบริษัทตามอัตราส่วนของหุ้นที่แต่ละคนมีอยู่นั้น เป็นเงื่อนไขที่ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707จึงไม่มีผล ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย ผู้รับพินัยกรรมไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น พินัยกรรมที่กำหนดให้โอนหุ้นในส่วนของเจ้ามรดกใส่ชื่อผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อรับเงินปันผลจากบริษัท เพื่อทำบุญทำทานและเกื้อกูลบุตรหลานที่ไม่มีชื่อถือหุ้นในบริษัทนั้น ไม่ใช่เรื่องตั้งผู้ปกครองทรัพย์และไม่ใช่เรื่องก่อตั้งทรัสต์ เพราะผู้รับพินัยกรรมไม่ใช่ผู้เยาว์หรือบุคคลไร้ความสามารถ และไม่มีการยกทรัพย์ให้แก่ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดแต่เป็นข้อกำหนดที่ทรัพย์สินซึ่งยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจจะทราบแน่นอนได้และเป็นการให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้กำหนดทรัพย์มรดกให้แก่ผู้รับพินัยกรมมากน้อยเท่าใดตามแต่ใจของผู้จัดการมรดกข้อกำหนดนี้จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(3)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ผู้พิพากษา

สหัส สิงหวิริยะ
มงคล เปาอินทร์
นิเวศน์ คำผอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android