คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ปัญหาที่ว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนประกอบการงานของจำเลยจะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในการกระทำที่จัดการงานให้จำเลยได้หรือไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
ตามบทบัญญัติ มาตรา 44 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้การตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทหลักทรัพย์ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน นั้น หมายความเฉพาะการตั้งตัวแทนหรือนายหน้าเพื่อให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เท่านั้น ส่วนการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี แม้จะถือว่าเป็นการตั้งตัวแทน ก็ไม่ต้องขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเป็นอำนาจทั่วไปที่บุคคลมีอยู่ตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย ในจำนวนหนี้ซึ่งเกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์เนื่องจากการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายอันเนื่องมาจากหนี้สินที่มีอยู่นั้นได้บทบัญญัติมาตรา 175(4) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เป็นเรื่องความรับผิดทางอาญาของตัวแทนในกิจการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้ จำเลยจะนำมากล่าวอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดดังกล่าวหาได้ไม่.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 175
  • พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 175

ผู้พิพากษา

ส่อง สุขะปุณณพันธ์
สวัสดิ์ รอดเจริญ
เดชา สุวรรณโณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android