คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2534

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในคดีฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์รวมมาโดย ล.เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเดิมได้โอนขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองเป็นสัดส่วนตลอดมา เช่นนี้ หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาด้วยการครอบครองปรปักษ์ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครอง และคำขอท้ายฟ้องก็ไม่จำต้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ หรือขอให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินมีโฉนดตามฟ้อง และได้ครอบครองเป็นสัดส่วนตลอดมาตามรูปที่ดินท้ายฟ้อง โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว จำเลยไม่ยินยอม ขอให้ศาลพิพากษาแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมจำเลยให้การว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยจริงแต่ปฏิเสธว่าโจทก์มิได้ครอบครองเป็นสัดส่วน รูปที่ดินท้ายฟ้องไม่ถูกต้อง และจำเลยไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวให้ไปแบ่งแยก ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า "โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตามเส้นสีดำ หมายสีเขียว หมายเลข 4 ในแผนที่พิพาทหรือไม่" จึงเป็นการถูกต้อง มิได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด ส่วนประเด็นว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้วหรือไม่ นั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าก่อนที่ ล. จะโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ ล. ได้เคยมีการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินทางทิศเหนือเป็นของ ล. แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ล.ก็ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนที่ขอแบ่งแยกให้แก่โจทก์เสียก่อน และโจทก์ได้เข้าครอบครองโดยปลูกบ้านและทำรั้วเป็นสัดส่วนตามรูปที่ดินในแผนที่พิพาทตลอดมาโดยจำเลยมิได้คัดค้าน เมื่อโจทก์ยืนยันว่าได้บอกกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไปแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว และไม่ปรากฏว่าการขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมนี้ได้กระทำในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามรูปคดีได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษานอกฟ้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183

ผู้พิพากษา

จองทรัพย์ เที่ยงธรรม
พนม พ่วงภิญโญ
อุดม มั่งมีดี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android