คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3381/2542

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ผู้แต่ง ทนายความ ในใบแต่งทนายความมีบุคคลเพียงคนเดียวรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ ย่อมไม่เสมอกับลงลายมือชื่อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสองมีผลเท่ากับการแต่งตั้งทนายความของโจทก์ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ทนายความผู้นั้นจึงยังไม่มีอำนาจทำการแทนในฐานะทนายความของโจทก์ และไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้องแทนโจทก์ได้ เท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งให้ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสองและการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อาจกระทำได้หลายประการ เช่นให้โจทก์มาลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้อง หรือในช่องผู้แต่งทนายความในใบแต่งทนายความ หรือให้ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์จัดให้ผู้รู้เห็นการพิมพ์ลายนิ้วมือของโจทก์ในใบแต่งทนายความมาลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในคำฟ้องโดยให้ตัวโจทก์มาลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความต่อหน้าศาลแต่ตัวโจทก์ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน แต่เมื่อมีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ได้ รวมทั้งมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องของใบแต่งทนายแทนโจทก์ด้วย นอกจากนี้ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ยังได้แต่งตั้งทนายความคนเดียวกันกับที่ โจทก์แต่งตั้งไว้ จึงเป็นผลให้ทนายความผู้นั้นมีอำนาจดำเนิน กระบวนพิจารณาคดีนี้แทนโจทก์ได้ และทำให้คำฟ้องคดีนี้มีลายมือชื่อของทนายความผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์มาตั้งแต่ต้น โดยไม่จำเป็นต้องให้ทนายความผู้นี้ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ ท้ายคำฟ้องอีกคำฟ้องโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 และ 67(5) ที่ศาลชั้นต้นจะต้องรับไว้พิจารณา
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67

ผู้พิพากษา

สมบัติ เดียวอิศเรศ
เสรี ชุณหถนอม
สมจิตร ทองประดับ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android