คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2541

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ แต่กลับปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดตอนหนึ่งและเอาโทษแก่เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกตอนหนึ่ง ในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบเป็นการกระทำ ต่อเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง และเป็นการกระทำให้บุคคลดังกล่าว ได้รับความเสียหาย เอกชนผู้นั้นย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้ คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงหน้าที่ตลอดจนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มาในคำฟ้องคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นอกจากจะเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการแล้วยังเป็นตำแหน่งทางฝ่ายบริหารมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ธุรการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ด้วย ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรีสูงกว่าตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งทางฝ่ายตุลาการเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น การแต่งตั้งโจทก์จากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่โจทก์เป็นการขัดกับ การที่โจทก์ยังมีโทษงดบำเหน็จอยู่ การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการหาข้อยุติความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณา สั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ในทางบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญยิ่งก็คือการจะนำเรื่องใดเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งนั้นเรื่องนั้นจะต้องมีข้อยุติว่าเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้ว การที่จำเลยที่ 2 พยายามหาข้อยุติความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับมติ ก.ต. ที่แต่งตั้งโจทก์และยังไม่อาจนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปนั้นหาใช่จำเลยที่ 2 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์เสียหายอย่างใดไม่ จำเลยที่ 2จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาและเป็นประธาน ก.ต.โดยตำแหน่งในการประชุมก.ต.ประธานก.ต. เป็นประธานที่ประชุม โดยทั่วไปแล้วในการประชุมประธานที่ประชุมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ จัดการประชุมและรับผิดชอบดำเนินการประชุมให้เป็นไปด้วย ความเรียบร้อยและเป็นผลดีแก่ทางราชการ หากไม่มีข้อบังคับ กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรประธานที่ประชุม จะสั่งเลื่อนหรือปิดประชุมก็ย่อมทำได้ ได้ความว่า ในตอนเช้าจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้ดำเนินการประชุม ก.ต. ไป ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ จนกระทั่งถึงวาระการ แต่งตั้งข้าราชการตุลาการ จำเลยที่ 3 แถลงขอให้ที่ประชุม เลื่อนวาระนี้ไปก่อนโดยชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นว่า มีเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อยู่อีกและเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ส่วนจำเลยที่ 4 ก็ได้พยายาม ชี้แจงและขอร้องให้ที่ประชุมเลื่อนวาระดังกล่าวออกไป โดยแจ้งว่าการเลื่อนออกไปจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในที่สุดส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นว่าไม่สมควร ให้มีการเลื่อนจำเลยที่ 4 จึงอาศัยอำนาจของประธาน ที่ประชุมสั่งให้เลื่อนและปิดประชุมทั้งนี้โดยมีมูลเหตุมาจาก การขอร้องของพลเอก ส. นายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลดี ต่อบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านตามรัฐประศาสโนบาย โดยเฉพาะ เป็นผู้มีหน้าที่นำมติ ก.ต. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งโจทก์ ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อพลเอก ส. เห็นว่าโจทก์ยังมีโทษทางวินัยอยู่และการแต่งตั้งโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชกระแส เช่นนี้การที่จำเลยที่ 4 ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อนโดยแจ้งว่าการเลื่อนจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้านแล้ว จึงได้สั่งให้เลื่อนและปิดประชุมหากจำเลยที่ 4 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยที่ 4 จะไม่นำเรื่องการแต่งตั้งโจทก์บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็ย่อมได้ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 4 ก็รู้อยู่ว่าโจทก์มีโทษ ทางวินัยอยู่ การที่ภายหลังต่อมามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อน การประชุมดังกล่าวแล้ว กรณีจึงไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 4 สั่งเลื่อนและปิดประชุมโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

ผู้พิพากษา

พิมล สมานิตย์
สันติ ทักราล
ระพินทร บรรจงศิลป

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android