คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2541

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เข้าไปเรียกผู้โดยสารในท่าอากาศยานไม่ปรากฎว่ารบกวนผู้โดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญแต่อย่างใด คงเป็นเพียงการเข้าไปชักชวน ผู้โดยสารให้ใช้บริการรถแท็กซี่ของจำเลยที่ 1 แม้จะทำให้ รถแท็กซี่ที่อยู่ในความควบคุมของการท่าอากาศยานฯ ต้องขาด รายได้ไปบางส่วนก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐาน รบกวนผู้โดยสารตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2(พ.ศ. 2528) ข้อ 8(6) งออกตามความในพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 4(2) ต. เป็นหัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยจึงเป็นพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ 2.1 ซึ่งแต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ต. ได้รับทราบทางวิทยุว่าจำเลยทั้งหกเข้ามารบกวนผู้โดยสารที่บริเวณห้องผู้โดยสารขาเข้า จึงสั่งให้ อ.กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมออกไปก็ให้ทำการจับกุม ต่อมาประมาณ 10 นาที ต. ได้รับแจ้งว่าอ. กำลังถูกรุมทำร้ายจึงรีบวิ่งไปที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพวกจำเลยกระจายกันวิ่งหลบหนี แสดงว่า ต.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่ต.อนุญาตให้อ.ณ.และย. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมจำเลยกรณีจึงไม่อาจถือว่า ต.เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือกระทำตามหน้าที่เพราะต.ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เช่นนี้แล้วการที่ อ.ณ.และย.เข้าจับจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะที่บุคคลทั้งสามเป็นผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นปฎิบัติ การหรือกระทำตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138,289(3),296 แต่กลับกลายเป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกจะต่อสู้ขัดขวางก็ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เกินสมควรแก่เหตุโดยปรากฎตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ว่าผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายจากการเข้าจับกุมเพียงเป็นรอยถลอกและบวมเล็กน้อยตามบริเวณแขน ข้อมือ และขมับการกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางจับกุมและทำร้ายร่างกายผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะในการปฎิบัติหน้าที่นี้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในอันที่จะมอบหมายให้ผู้อื่นปฎิบัติหน้าที่แทนตน เห็นได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เจ้าพนักงานจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรบกวนผู้โดยสารซึ่งจะต้องถูกจับหรือไม่บุคคลอื่นหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานอาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ดังจะเห็นได้ในคดีนี้ว่าผู้จับวินิจฉัยผิดพลาดและเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ และแม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 3จะถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกาเห็นสมควรยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • พระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 4
  • ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องแต่งตั้งเจ้าพนักงานฯ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

อรุณ น้าประเสริฐ
จรัญ หัตถกรรม
อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android