คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4802/2540

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อมีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตสัมพันธ์วงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนครเขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530เป็นต้นไปมีกำหนด 5 ปี กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนโดยให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้ทำการสำรวจที่ดินโฉนดเลขที่ 1948 ของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืนและได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้วางหลักเกณฑ์การคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเวนคืนโดยมีมติให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535ในการคิดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้ทำการสำรวจที่ดินของโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นการสำรวจก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 จะสิ้นอายุในวันที่ 16 มิถุนายน 2535ต่อมาเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ ฯลฯ พ.ศ. 2535 กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาอยู่ในเขตที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบรถไฟขนส่งมวลชนประกาศใช้ อันมีผลบังคับใช้ในวันที่29 สิงหาคม 2535 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาฉบับก่อน ซึ่งเหตุผลในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพ.ศ. 2535 ก็เนื่องจากการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 จึงเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกต่อเนื่องในกิจการเดียวกัน ทั้งนี้เมื่อไม่มีการกำหนดแนวเวนคืนเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงแนวเวนคืนเดิม จึงไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการสำรวจที่ดินของโจทก์ใหม่อีก เพราะจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการไปเรียบร้อยตามอำนาจหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับอยู่โดยชอบแล้วในขณะนั้นแล้วนอกจากนั้นในการคิดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ซึ่งคณะกรรมการได้ถือเอาราคาตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535 มาเป็นราคาเบื้องต้นที่กำหนดสำหรับที่ดินของโจทก์ และจำเลยทั้งสองกำหนดให้ใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2535 อันเป็นราคาประเมินที่สูงกว่า และจำเลยทั้งสองเห็นว่าเป็นธรรมแก่โจทก์ซึ่งโจทก์ก็ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยตามมาตรา 10แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ดังนั้น ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์แล้ว สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในเขตที่จะเวนคืน จึงชอบด้วยกฎหมายเพราะหลังจากได้ปฏิบัติตามขั้นตอนมาดังกล่าวแล้วสัญญาซื้อขายนั้นก็ได้กระทำในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 ใช้บังคับโดยจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน มีอำนาจทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวกับโจทก์ได้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งถ้าโจทก์เห็นว่าค่าทดแทนตามสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรม ก็ยังมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดวิธีแก้ไขให้โจทก์ขอความเป็นธรรมต่อไปได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และถ้ายังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยในกำหนดเวลาโจทก์ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่ตกเป็นโมฆะ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 10
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26
  • พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2530 มาตรา 26
  • พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาธร เขตคลองเตย เขตพระโขนง เขตห้วยขวาง และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535 มาตรา 26

ผู้พิพากษา

กนก พรรณรักษา
สุรินทร์ นาควิเชียร
ถวิล อินทรักษา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android