คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2540

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 2 ได้บัญญัติให้จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยขึ้น และให้เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ และในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ข้อ 6 ข้อ 13 ข้อ 15และข้อ 17 บัญญัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยมีอำนาจซื้อ จัดหา ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองหรือดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย โดยมีผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหน้าที่บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยและในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษโดยมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารกิจการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย และถือว่าผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำในนามและเป็นผู้กระทำแทนการพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยและตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิตพ.ศ. 2534 มีวัตถุประสงค์ที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์โดยมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษ ดังนั้น การดำเนินการเวนคืนเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างทางพิเศษจึงเป็นกิจการในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย เมื่อผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษตามอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลย จึงเป็นการดำเนินการในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และในฐานะผู้แทนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยด้วย เมื่อโจทก์เห็นว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนอันเป็นกิจการส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์คือที่ดินของโจทก์ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยได้ ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่และสายพญาไท-ศรีนครินทร์แต่เนื่องจากการสำรวจที่ดินที่จะเวนคืนยังไม่แล้วเสร็จและพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวสิ้นอายุจึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิตพ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535เป็นต้นไป ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่อยู่ในเขตที่จะเวนคืนจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการดำเนินการเพื่อเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 2 หลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้น มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 ดังกล่าว ให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ซึ่งในกรณีนี้คือในวันที่ 1 มกราคม 2535 รวมทั้งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อื่น ๆในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเว้นคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ประกอบด้วยเมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดค่าทดแทนเวนคืนที่ดินของโจทก์เท่ากับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535ราคาดังกล่าวเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินเพียงประการเดียว ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบประการหนึ่งในการกำหนดราคาค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(3)จึงยังถือไม่ได้ว่าการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์เป็นการกำหนดราคาค่าทดแทนโดยชอบและเป็นธรรม โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2536 ตามเอกสารหมาย ล.12 นับแต่วันดังกล่าวไปอีก 120 วัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2536 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสามโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ8.5 ต่อปี คงที่ นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 11
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26
  • ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 มาตรา 26
  • พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต พ.ศ.2534 มาตรา 26

ผู้พิพากษา

อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ
อุดม มั่งมีดี
ไพฑูรย์ แสงจันทร์เทศ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android