คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9734/2539

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ที่จะต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิจารณาคดีส่วนแพ่งนั้น คดีแพ่งและคดีอาญาดังกล่าวจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน สำหรับสำนวนคดีแรกโจทก์ที่ 2 ฟ้องในฐานะเป็นเจ้าของรถบรรทุกและเป็นผู้เสียหายจากการเสื่อมเสียของรถและขาดประโยชน์รายได้อันเป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 เองโดยเฉพาะหาได้รับช่วงมีสิทธิมาจากการที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ส. จำเลยที่ 1 แต่ประการใดไม่ ทั้งโจทก์ที่ 1ในฐานะผู้รับประกันภัยจากโจทก์ที่ 2 ก็เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัย ฉะนั้นโจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุคคลภายนอกในคดีอาญาที่ศาลได้พิพากษาไปแล้วดังกล่าวรวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้เคยเป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นบุคคลภายนอกในคดีอาญาดังกล่าวจึงจะนำหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ว่าให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญามาใช้ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งบังคับใช้ในคดีนี้หาได้ไม่สำหรับสำนวนคดีหลัง โจทก์จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีอาญาดังกล่าว ทั้งประเด็น ในคดีแพ่งคดีนี้มีว่า น. จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกันกับคดีอาญาดังกล่าวซึ่งมีประเด็น ว่า ส. จำเลยที่ 1 คดีนี้ เป็นผู้ขับรถโดยประมาทหรือไม่จึงไม่มีเหตุที่จะต้องนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวมาใช้ใน การพิจารณาคดีแพ่งเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่อ้างคำเบิกความของพยานขึ้นมาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานไม่ถูกต้องเป็นการดึงปัญหาข้อเท็จจริงเข้ามาสู่ปัญหาข้อกฎหมายเพื่อให้มีการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายใหม่ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประมาทหรือไม่ อันเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46

ผู้พิพากษา

กอบเกียรติ รัตนพานิช
สมมาตร พรหมานุกูล
ชลอ บุณยเนตร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android