คำพิพากษาย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้า บริษัท สแกนดิเนเวียฯ โดยนาย ซ. และนาย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้นาย ว. แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญบริษัท ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัท ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี
ข้อ 9
ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ
" และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า "ด้วยหนังสือนี้ ข้าพเจ้า บริษัทสแกนดิเนเวียฯ โดยนาย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ นาย จ. และหรือ นาย ก. ให้เป็นตัวแทนของบริษัทและให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้
" แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่านาย ว. ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานะตัวแทนโจทก์ก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล" ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่า นาย จ. และหรือ นาย ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง กับอ้างหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความ คือ โจทก์ โดยนาย จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่านาย ว. มีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เพื่อมอบอำนาจช่วงให้นาย จ. และหรือ นาย ก. ฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใด ดังนี้ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จึงมีผลสมบูรณ์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญ มีอำนาจกระทำการแทนและมีผลผูกพันโจทก์ ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ในการดำเนินคดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นาย ว. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนและมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ ซึ่งนาย ว. ได้มอบอำนาจช่วงให้นาย จ. และ/หรือ นาย ก. เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 ดังนั้น นาย ว.ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์มีฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ด้วย รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ การกระทำของนาย ว. ตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ขัดกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ "ข้อ 1 มีอำนาจกระทำการ และลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ และมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคล หรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่า/เช่าซื้อของบริษัท ดังนี้ 1.1 ยึดทรัพย์สินที่ให้เช่า/เช่าซื้อ 1.2
1.6
" ข้อความดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการและลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ แทนโจทก์ส่วนหนึ่ง กับมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่าหรือเช่าซื้อของโจทก์ตามที่ระบุในข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.6 อีก
ส่วนหนึ่ง ดังนั้น นางสาว พ. และนาย ส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้