คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4492/2547

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในคดีอาญา อัยการโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ในคดีนี้ซึ่งครอบครองดูแลรักษาสินค้าของผู้เสียหาย (จำเลยในคดีนี้) แล้วโจทก์ได้เบียดบังเอาไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และมีคำขอให้โจทก์คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปเป็นเงิน 310,145 บาทพร้อมดอกเบี้ย แต่คดีนี้นอกจากจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลอื่นยักยอกทรัพย์ของจำเลยไปแล้ว จำเลยยังอ้างในฟ้องแย้งด้วยว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลย แต่โจทก์มิได้ส่งคืนให้กลับนำไปมอบให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้ เห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลละเมิด แต่คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายรวมอยู่ด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีอาญา แต่ก็วินิจฉัยเพียงว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีส่วนร่วมรู้เห็นกับผู้ที่มารับสินค้า ซึ่งเท่ากับฟังว่ายังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกเท่านั้น โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังที่จำเลยถือเป็นข้ออ้างในคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยฟ้องแย้งจึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ผู้พิพากษา

วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
อรพินท์ เศรษฐมานิต
หัสดี ไกรทองสุก

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android