คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8108/2538

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จึงเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) และตามมาตรา1305 บัญญัติไว้ว่าจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกา จึงไม่อาจทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันได้ การที่โจทก์ที่ 1 กับ อ.ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันเพราะเข้าใจว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น สามารถซื้อขายและโอนกันได้โดยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีกฎหมายห้ามโอนไว้ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 และ อ. เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมว่าสามารถโอนกันได้ จึงเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 เดิมย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ ขึ้น คู่สัญญาปราศจากข้อผูกพันในอันที่จะต้องปฎิบัติตามสัญญาเสมือนหนึ่งไม่มีข้อสัญญาต่อกันนั่นเอง จึงไม่มีกรณีการรอนสิทธิและการส่งมอบทรัพย์สินขาดตกบกพร่อง แต่อย่างไรก็ตามเงินราคาที่ดินพิพาทที่ อ.รับไปจากโจทก์ทั้งสองเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของ อ.จึงต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะแล้วถือเสมือนไม่มีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากฝ่ายจำเลยโดยอ้างผลแห่งการผิดสัญญา
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 เดิม
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305

ผู้พิพากษา

สถิตย์ ไพเราะ
สุทธิ นิชโรจน์
ทองเลื่อน พูลพิพัฒน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android