คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ลูกจ้างเป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยกล่าวหาว่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้รับกลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิมต่อไป หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เป็นการฟ้องร้องตามนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงหาใช่เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรมไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้ลูกจ้างต้องร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่าง ใดก่อนที่จะดำเนินการในศาลแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ได้ปฏิบัติงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 75 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนับแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 124
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 32
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75

ผู้พิพากษา

สีนวล คงลาภ
มาโนช เพียรสนอง
สุพจน์ นาถะพินธุ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android