คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยเข้าไปปักเสาและปลูกต้นมะขามในที่ดินของโจทก์ก็เพื่อถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ความผิดฐานบุกรุกได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองที่ดินของโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ถึง 10 สิงหาคม 2528 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 363 โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน แม้จะมีข้อความตอนหนึ่งว่าขณะนี้จำเลยยังคงบุกรุกอยู่ ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินตามฟ้องทั้งเวลากลางวันและกลางคืน แต่โจทก์ก็มิได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3)จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 363 เป็นความผิดอันยอมความกันได้ โจทก์มิได้ร้องทุกข์และได้ฟ้องคดีเองเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2531)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 363
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366

ผู้พิพากษา

บุญส่ง คล้ายแก้ว
ธีรศักดิ์ กรรณสูต
ถวิล ทองสว่างรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android