คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4669/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยเป็นเกษตรอำเภอทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยเกษตรจังหวัดได้ไปรื้อค้นสำนักงานและโต๊ะทำงานของจำเลยขณะจำเลยไม่อยู่ ปรากฏว่าเงินที่จำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินไป จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานและลักทรัพย์ โดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจำเลยทราบเรื่องจากผู้ใด ดังนี้ แม้จะได้ความว่าโจทก์ไปตรวจราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จ อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 และที่จำเลยทำบันทึกถึงนายอำเภอมีข้อความทำนองเดียวกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 179
การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งแกล้งแจ้งข้อความให้ผิดไปจากความจริง การที่แจ้งข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนไปจะถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่ เช่นเดียวกับการตั้งข้อหาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งความเสมอไปเช่นกัน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134

ผู้พิพากษา

สุพจน์ นาถะพินธุ
มาโนช เพียรสนอง
สีนวล คงลาภ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android