คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1897/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่ลูกหนี้ (จำเลย) ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. ซึ่งเป็นสามีมิได้จดทะเบียนสมรสกันมอบอำนาจให้ ส. ขายที่ดินและบ้านพิพาททั้งส่วนที่เป็นมรดกของ พ. และส่วนที่เป็นของตนให้แก่ผู้คัดค้านขณะที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) แล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างลูกหนี้ (จำเลย) กับผู้คัดค้านเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์พิพาทอันเป็นส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) ย่อมเป็นนิติกรรมอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 22, 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทอันเป็นส่วนของลูกหนี้ (จำเลย) เสียได้ และเมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้ว คู่สัญญาคือลูกหนี้ (จำเลย) ผู้ขายและผู้คัดค้านผู้ซื้อย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยผลแห่งกฎหมายไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้มีการชดใช้เงินในกรณีที่ไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมอีกและถึงแม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้เพิกถอนการโอนโดยอ้าง มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาด้วย และผู้คัดค้านอ้างว่าได้รับโอนทรัพย์พิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน เมื่อได้ความว่าลูกหนี้ (จำเลย) โอนทรัพย์ให้ผู้คัดค้านหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดแล้วก็ต้องปรับตามมาตรา 24 เพราะคำว่า การโอนทรัพย์สินหรือกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หมายถึงการโอนที่กระทำกันก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หาใช่การโอนที่กระทำกันหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 133
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114

ผู้พิพากษา

คำนึง อุไรรัตน์
ดุสิต วราโห
สวัสดิ์ รอดเจริญ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android