คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อ้างว่าไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ ขณะคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นคดีใหม่ โดยเพิ่มข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันแสดงเจตนาลวงโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 7 โดยสมยอม ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ ดังนี้มูลค่าที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องเดียวกัน มีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง ทั้งเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกัน ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) การที่โจทก์ถอนฟ้องคดีเดิมหลังจากฟ้องคดีใหม่ ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในคดีใหม่ได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 และพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 29 สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือการเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินหรือนาที่ให้เช่าผู้รับโอนจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่า จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่านาพิพาทโอนขายที่นาพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โดยไม่ได้แจ้งการขายให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เช่าก่อน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิซื้อที่นาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 41 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โอนขายนาพิพาทต่อไปให้จำเลยที่ 7 จำเลยที่ 7 ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีอยู่ต่อโจทก์ทั้งสองผู้เช่านาพิพาทโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะซื้อนาจากจำเลยที่ 7 ตามราคาและวิธีการชำระเงินตามที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซื้อไว้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
  • พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 มาตรา 173

ผู้พิพากษา

เสรี แสงศิลป์
สุชาติ จิวะชาติ
อำนวย เปล่งวิทยา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android