คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2121/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยโดยบรรยายฟ้องว่า เงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษ เงินสะสมค่าเครื่องแบบ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ ค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าภาษีเงินได้ ค่ารถประจำตำแหน่ง และโบนัสพิเศษ เป็นค่าจ้างต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย จำเลยให้การว่า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์มีความผิด โดยมิได้ต่อสู้ว่าเงินทั้ง 8 รายการดังกล่าวเป็นค่าจ้างหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ศาลย่อมต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยคำนวณจากอายุงานและค่าจ้างเป็นหลัก เมื่อรายการใดถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมายอันจะพึงนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนนั้นการที่ศาลวินิจฉัยว่าเงินและสิ่งของที่โจทก์ได้รับรวม 8 รายการมิใช่ค่าจ้างจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับประเด็น ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือเป็นเรื่องที่ถือว่าจำเลยยอมรับแล้ว
เงินรางวัลเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้จากผลกำไรซึ่งแล้วแต่ผู้บริหารจะกำหนดเองและไม่แน่นอน มิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง ส่วนค่าครองชีพพิเศษก็มิได้แยกจำนวนไว้ต่างหากโดยกำหนดรวมไว้เป็นเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษผลจึงเป็นว่าการจ่ายเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารของจำเลยที่จะกำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอน เงินประเภทนี้จึงมิใช่ค่าจ้าง
จำเลยได้จ่ายเงินสะสมสมทบโดยมิได้หักเงินเดือนของลูกจ้างและได้จ่ายสมทบนับแต่พนักงานของจำเลยได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำส่วนสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินสะสมก็ต่อเมื่อออกจากงาน หากออกจากงานก่อนครบ 5 ปี หรือออกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประมาทเลินเล่อ หรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษาก็ไม่มีสิทธิได้รับนอกจากจำเลยจะพิจารณาเห็นสมควรเงินประเภทนี้จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานอันพึงถือว่าเป็นค่าจ้าง
ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ปีละ 1,000 บาท จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานบางระดับที่ไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่ง แต่สำหรับโจทก์ซึ่งมีรถยนต์ประจำตำแหน่งได้รับอนุมัติช่วยเหลือด้วย ซึ่งเป็นเพียงการช่วยเหลือในด้านสวัสดิการ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้าง
จำเลยเติมน้ำมันให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งมีจำนวนมากน้อยแล้วแต่การใช้งานแต่ไม่เกินเดือนละ300 ลิตร หากใช้น้อยก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนที่ใช้ยังไม่ครบ จึงเป็นจำนวนไม่แน่นอนและมิใช่การเหมาจ่าย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยอนุเคราะห์โจทก์เกี่ยวกับการใช้พาหนะ มิใช่เงินหรือสิ่งของที่จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานอันจะถือเป็นค่าจ้าง
ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้โจทก์โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ เป็นการที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างเต็มตามสัญญาจ้าง เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีพและดำรงฐานะให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ดียิ่งขึ้น เป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดหาให้แก่ลูกจ้าง มิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้าง
จำเลยจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้ใช้ก็เพื่อประโยชน์ในการที่โจทก์ใช้เป็นพาหนะเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนแม้บางเวลาโจทก์อาจนำไปใช้เป็นส่วนตัวได้บ้างก็เป็นเรื่องการอนุเคราะห์ในด้านความสะดวกสบายบางประการเท่านั้น กรณีไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพของการอำนวยประโยชน์ของความสะดวกสบายเช่นนี้มาเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนได้ จึงมิใช่ค่าจ้าง
เงินโบนัสไม่ใช่เงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายอย่างใดก็ได้ตามแต่นายจ้างจะเป็นผู้กำหนด และการจ่ายเงินโบนัสพิเศษก็เป็นไปตามดุลพินิจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยเป็นผู้กำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอนจึงมิใช่ค่าจ้าง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกพยานเอกสารจากจำเลยหลายฉบับหลายครั้ง คำร้องทุกฉบับโจทก์ได้ชี้แจงแสดงเหตุที่จะต้องขอให้เรียกเอกสารจากจำเลย และศาลแรงงานกลางได้สอบถามรายละเอียดของข้อเท็จจริงในเอกสารต่าง ๆ จากโจทก์บ้าง แล้วมีความเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีและไม่มีความจำเป็นต้องนำสืบ ดังนี้เป็นการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานหลักฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อโจทก์ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในเอกสารเหล่านั้นโดยไม่จำต้องอาศัยพยานเอกสาร การเรียกเอกสารดังกล่าวจึงไม่จำเป็นแก่คดี ศาลแรงงานกลางชอบที่จะสั่งยกคำร้องของโจทก์ได้
พยานเอกสารที่จำเลยนำมาสืบแม้เป็นเพียงภาพถ่ายมิใช่ต้นฉบับเอกสาร แต่เมื่อจำเลยส่งอ้างเป็นพยานต่อศาล โจทก์มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น พยานโจทก์และพยานจำเลยหลายปากก็ได้เบิกความรับรองและอ้างถึงเอกสารดังกล่าว ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าเอกสารนั้นมีอยู่จริงและมีข้อความตรงกับต้นฉบับ ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าภาพถ่ายเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 2
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 46

ผู้พิพากษา

มาโนช เพียรสนอง
สมบูรณ์ บุญภินนท์
เพียร สุมิระ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android