คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งห้าหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดการกระทำของจำเลยให้ปรากฏพอที่จะให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษทุกกรรมดังที่ได้ความตามทางพิจารณาศาลจะลงโทษจำเลยแต่ละกรรมนอกเหนือจากฟ้องหาได้ไม่
จำเลยกล่าวหลอกลวง ว. ผู้เสียหายที่บ้าน ว. ขณะนั้นมี ย. ม. ป.ผู้เสียหายและชาวบ้านอื่นอยู่ด้วย เป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวแก่ ว. แล้วผู้เสียหายอื่นไปได้ยินเข้าเอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะกล่าวหลอกลวงผู้เสียหายอื่นและชาวบ้านหากแต่ผู้เสียหายอื่นได้ยินแล้วเชื่อและชำระเงินให้จำเลย ถือได้ว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายเป็นรายบุคคลมิได้หลอกลวงประชาชน จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
คดีนี้โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลชดำที่ 3672/2526 ของศาลชั้นต้นไว้แล้ว แต่ศาลล่างทั้งสองนับโทษต่อจากคดีดังกล่าวไม่ได้ เพราะคดีนั้นศาลยังมิได้มีคำพิพากษา โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2672/2526 หมายเลขแดงที่ 3332/2526 ของศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว จำเลยมิได้แก้ฎีกาปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงฟังได้ว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้วจริง ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้นับโทษต่อกันได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200

ผู้พิพากษา

ดำริ ศุภพิโรจน์
อำนวย อินทุภูติ
สมศักดิ์ เกิดลาภผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android