คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2522

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ทำให้จำนวนเงินค่าภาษีขาดไปต้องถือว่าหนี้ค่าภาษีที่ขาดไปนี้ได้ถึงกำหนดชำระแล้ว ตั้งแต่วันที่โจทก์ผู้เสียภาษีเงินได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65, 68 และ 69 คือภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแต่ละปี ภาษีรายพิพาทเป็นภาษีเงินได้สำหรับระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2495 ถึง 2500 ซึ่งถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2496, 30 พฤษภาคม 2497, 30 พฤษภาคม 2498, 29 พฤษภาคม 2499, 30 พฤษภาคม 2500 และ 30 พฤษภาคม 2501 ตามลำดับ อายุความจึงเริ่มนับจากวันครบกำหนดชำระของแต่ละปีเป็นต้นไป เพราะเจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินแจ้งคำสั่งประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้เพิ่มเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2505 ซึ่งนับอายุความตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระภาษีได้จนถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินแล้วยังไม่เกิน 10 ปี และการที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งคำสั่งประเมินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการทำการอื่นใดอันนับว่าดีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ถ้าผู้ต้องเสียภาษีไม่เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะสั่งยึด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องเสียภาษี เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษีอากรค้างได้ โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินยอมเป็นเหตุให้อายุความสุดุดหยุดลง ส่วนการที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2515 นั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ใช่คำสั่งประเมินเรียกเก็บภาษีเป็นเพียงข้อวินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องหรือไม่เท่านั้น จะนับอายุความจากวันครบกำหนดชำระภาษีจนถึงวันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าเกิน 10 ปี ขาดอายุความหาได้ไม่ และกรณีที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินดังกล่าว ทั้งฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีนี้สืบเนื่องกันมา ถือได้ว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของกรมสรรพากรจำเลยที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้รายพิพาทจึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 167
เงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรจำเลยไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินและกรมสรรพากรจำเลยไม่ยอมให้ทุเลาการชำระ ซึ่งฝ่ายจำเลยถือว่ามีสิทธิเรียกเก็บได้ตามกฎหมาย และโต้เถียงเช่นนั้นตลอดมา ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จำเลยได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีดังกล่าวคืน จึงไม่ใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้อันอยู่ในบังคับที่จะใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
โจทก์ได้เสียภาษีเพิ่มสำหรับรอบระยะบัญชี 2495 และ 2496 ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน โดยจำเลยไม่ยอมให้ทุเลาการชำระ แต่ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มน้อยกว่าที่ชำระไปแล้ว โจทก์จึงชำระภาษีเกินกว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปเป็นเงิน 727,340.86 บาท ดังนี้ กรมสรรพากรจำเลยต้องคืนเงินภาษีจำนวนที่โจทก์ชำระเกินไปดังกล่าวให้โจทก์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้นำภาษีที่โจทก์ชำระเกินไว้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่โจทก์จะต้องชำระสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2497 และ 2498 ได้ เพราะประมวลรัษฎากรไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้เช่นที่บัญญัติในมาตรา 18 ทวิ, 60 ทวิ คือให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นรายการและภาษีที่เรียกเก็บ
ให้ถือเป็นเครดิตของผู้ต้องเสียภาษีในการคำนวณภาษี และการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ ทั้งสิทธิเรียกร้องในหนี้ยังมีข้อต่อสู้อยู่จะหักกลบลบหนี้กันไม่ได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าภาษีดังกล่าวให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 236
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 12
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ทวิ
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 30
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 65
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 68
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 69

ผู้พิพากษา

ภิญโญ ธีรนิติ
ภิญโญ ธีรนิติ
ภักดิ์ บุณย์ภักดี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android