คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7321/2544

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่คัดค้านจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
การที่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ไปเพียง 200,000 บาท มิใช่จำนวน 325,000 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นเพียงข้อแตกต่างกันในรายละเอียดของทรัพย์ที่ถูกจำเลยที่ 1 ยักยอก มิใช่การ แตกต่างกันในข้อเท็จจริงอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี โดยตลอดมิได้หลงต่อสู้คดีแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับ ข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญและไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอก เกินคำขอแต่อย่างใด
เมื่อโจทก์ประกอบกิจการขายรถยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขา ดำเนินการติดต่อลูกค้าแทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองเงินที่นาย อ. ลูกค้าชำระให้โจทก์แล้วไม่ส่งมอบให้โจทก์ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น การกระทำความผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไว้เป็นของตน จำเลยที่ 1 จึงมี ความผิดฐานยักยอก แต่การทำสัญญาซื้อขายและการชำระราคารถยนต์เป็นเรื่องความไว้วางใจกันระหว่างโจทก์กับ ลูกค้าเป็นการเฉพาะราย มิใช่กับประชาชนทั่วไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 354 คงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 เพียงมาตราเดียว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา

สุมิตร สุภาดุลย์
ไพศาล เจริญวุฒิ
สมชัย เกษชุมพล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android