คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8947/2542

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้บรรจุสินค้าที่ขนส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้รับมอบหมายให้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากลานบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปยังท่าเรือกรุงเทพ พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้วเมื่อความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างความดูแลของจำเลยทั้งสองและเกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองในฐานะ ผู้ขนส่งร่วมย่อมต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายดังกล่าว
พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัติว่า "หน่วยการขนส่ง" หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำดับได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่ใช้เรียกชื่ออย่างอื่น สินค้าที่ขนส่งเป็นขดลวดสแตนเลสและแยกบรรจุใส่ไว้ในลังไม้ รวมทั้งหมดจำนวน 130 ลัง แต่ละลังย่อมถือเป็นหน่วยการขนส่ง แม้สินค้าทั้งหมดจะแยกบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จำนวนรวม 5 ตู้ ก็ไม่ถือว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นหน่วยการขนส่ง
ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางบก จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในส่วนที่ เกี่ยวกับข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าเสียหายตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล มาใช้คำนวณค่าเสียหายของสินค้าได้ แต่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 625 ว่าด้วย การรับขนของมาใช้บังคับ เมื่อไม่ปรากฏตามใบตราส่งที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกหรือในเอกสารหลักฐานแห่งสัญญารับขนอื่นใดว่ามีข้อตกลงจำกัดความรับผิด ของผู้ขนส่ง และผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดนั้นด้วยแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงต้อง รับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเต็มจำนวน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาพิจารณาจนมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว ในระหว่างการพิจารณาไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างว่าศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ การที่จำเลยทั้งสองเพิ่งหยิบยกปัญหา ดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะหยิบยกปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาขึ้นมาเป็นข้ออุทธรณ์
แม้หากคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่การที่จำเลยทั้งสองได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ร่วมกับโจทก์และจำเลยร่วมร้องขอให้โอนคดีนี้และสืบพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมาจนเสร็จสิ้นโดยมิได้ยก เรื่องอำนาจศาลขึ้นโต้แย้ง ถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาผิดศาล ดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกปัญหาเรื่องอำนาจศาลขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 18
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46

ผู้พิพากษา

สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
สมคิด ไตรโสรัส
ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android