คำพิพากษาย่อสั้น
พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 5 (1) (ก) ได้บัญญัติยกเว้นมิให้ใช้บังคับแก่อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของราชการทหารและตำรวจที่มีหรือใช้ในราชการ เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นของกรมตำรวจและจำเลยที่ 1 เบิกมาใช้ในราชการโดยชอบ จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 เบิกอาวุธปืนของกลางมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2532 และมิได้ส่งคืนเพื่อตรวจสอบในกำหนด 1 เดือนก็ตาม ก็เป็นเรื่องผิดระเบียบภายในของกรมตำรวจ หาทำให้การกระทำที่ไม่เป็นความผิด กลับกลายเป็นความผิดขึ้นไม่
จำเลยที่ 1 รับราชการตำแหน่งรองสารวัตรแผนก 5 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม กรมตำรวจ ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบลาขอหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่ 22 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2532 และได้เดินทางไปที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ต่อมาถูกจับและยึดอาวุธปืนของกลางได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2532 ที่ห้องพักโรงแรมพลาซ่า อำเภอสุไหงโก-ลก และจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 พาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ทั้งการพาอาวุธปืนของกลางดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะนั้น จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการเนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการในท้องที่ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนของกลางไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควรด้วย
จำเลยที่ 1 กับพวกอีกหนึ่งคนมาที่บ้านผู้เสียหายแนะนำตัวว่าชื่อร้อยตำรวจโท อ.มาจากกองปราบปรามมาทำงานโดยขอความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายและถามผู้เสียหายว่าจะให้เท่าใด ผู้เสียหายเป็นนักการพนันเข้าใจว่าเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามมาขอเงินกลัวจะถูกจับกุม เพราะในบ้านของผู้เสียหายมีการลักลอบเล่นการพนันเป็นประจำ จึงบอกว่าจะให้ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 ขอ15,000 บาท ผู้เสียหายจึงให้เงินจำนวนดังกล่าว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้แกล้งกล่าวหาผู้เสียหายในข้อหาใด ทั้งจำเลยที่ 1มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบแต่ประการใด จำเลยที่ 1 เพียงแต่พูดขอเงินค่าใช้จ่ายเป็นส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการอันใดอันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงิน จำเลยที่ 1ยังไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 148
จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก ส.และ อ.ผู้เสียหายแต่ละรายหากไม่ยอมให้เงินจะจับกุม จนผู้เสียหายทั้งสองรายกลัวจึงยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 1แม้ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของผู้เสียหายทั้งสองรายนี้ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายหลายรายในเวลาไล่เลี่ยกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด ข่มขืนใจและจูงใจให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องเอาเงินเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสองราย หากไม่ยอมให้จะจับกุมจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตามป.อ. มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตามป.อ. มาตรา 337
จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก พ. ผู้เสียหายโดยกล่าวในทำนองว่าถ้าไม่ให้เงินจะทำการจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณี พ.ตกลงให้เงินแก่จำเลยที่ 1เพราะ พ.เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการคุมผู้หญิงที่ประกอบอาชีพค้าประเวณีในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก และ พ.ตกลงให้เงินเพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในพวกสมาชิกหญิงที่มีอาชีพรับจ้างค้าประเวณี ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจาก พ.ผู้เสียหาย หากไม่ยอมให้จะจับกุมหญิงที่รับจ้างค้าประเวณี ซึ่งอยู่ในความดูแลของพ.ผู้เสียหาย โดยพฤติการณ์ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 1 มีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ข่มขืนใจให้ พ.ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมหญิงค้าประเวณีซึ่งอยู่ในความดูแลของ พ. ผู้เสียหายทั้งที่ไม่ปรากฏว่าขณะข่มขู่ดังกล่าวมีการค้าประเวณีกันจริง กรณีจึงเป็นการแกล้งกล่าวหาขึ้นเพื่อจะเรียกเอาเงินเท่านั้นเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบตาม ป.อ.มาตรา 148 และเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 337
ความผิดกระทงที่หนักที่สุดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 นั้นเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป กรณีจึงต้องด้วย ป.อ. มาตรา 91 (3) ซึ่งเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นจะต้องไม่เกินกำหนด 50 ปี