คำพิพากษาย่อสั้น
เมื่อโจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่อนุมัติให้จ่ายเงินรางวัลตามบันทึกเสนอของจำเลยที่ 5 เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งห้าสิบเจ็ดจึงต้องคืนเงินรางวัลแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนรับไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามฟ้องจึงตั้งฐานมาจากคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยแต่ละคนมีจำนวนเงินที่แน่นอน แต่โจทก์ก็ยังมีคำขอให้จำเลยที่ 2และที่ 5 ร่วมกันชดใช้เงินรางวัลทั้งหมดแทนจำเลยอื่น ทั้งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชดใช้แทนจำเลยอื่นด้วย จำเลยทุกคนจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีอันมีทุนทรัพย์ทั้งหมดตามที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทุกคนซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 จึงมิใช่อุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งจำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 ก็ได้อุทธรณ์ด้วยว่า อำนาจการสั่งจ่ายเงินรางวัลเป็นอำนาจโดยเฉพาะตัวของอธิบดีกรมศุลกากรเป็นอำนาจทางด้านการบริหารราชการและเป็นอำนาจเด็ดขาดของอธิบดีกรมศุลกากรไม่อาจถูกเพิกถอนได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งหาได้ต้องห้ามอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดของจำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 ด้วยเหตุที่อ้างว่าอุทธรณ์จำเลยที่ 50 ถึงที่ 57ต้องห้ามอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง กรณีไม่ต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 50 ถึงที่ 57
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี บัญญัติว่า"ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด..." และระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลพ.ศ. 2517 ข้อ 4 (1) กำหนดว่า "กรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1คือความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือของต้องห้ามต้องกำกัดในการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีที่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนร้อยละ 30 เป็นเงินรางวัลร้อยละ 25 กรณีที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับให้หักจ่ายเป็นรางวัลร้อยละ 30 โดยคำนวณจากค่าปรับ" ส่วนข้อ 6 (5) กำหนดว่า"เงินรางวัลตามข้อ 4 (1) และ (2) ให้จ่ายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้...(5) เงินรางวัลจะไม่จ่ายให้ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้วเช่น เป็นความผิดเกี่ยวกับพิธีการหรือเอกสาร เป็นต้น" บทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดในระเบียบดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าอธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตามจำนวนในข้อ 4 (1)ส่วนข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลคงเป็นไปตามข้อ 6 (5) คือในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาเห็นว่า ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรที่จะใช้ดุลพินิจได้โดยลำพังว่า ความผิดที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้มีการจ่ายเงินรางวัลนั้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้วหรือไม่ บทบัญญัติดังกล่าวหาเป็นเงื่อนไขเด็ดขาดที่จะต้องงดการจ่ายเงินรางวัลดังเช่นที่กำหนดไว้ในข้อ 11และข้อ 12 แห่งระเบียบดังกล่าวข้างต้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือของต้องห้ามต้องกำกัดในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร อันมีผลทำให้มีการจ่ายเงินรางวัลตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2517 ข้อ 4 (1) และจำเลยที่ 2ซึ่งใช้อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาสั่งให้จ่ายเงินรางวัลโดยไม่ได้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งใช้อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรหรืออธิบดีกรมศุลกากรในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า ความผิดที่เกิดขึ้นจากการตรวจจับสินค้ารายพิพาทนี้เป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้ว และสั่งมิให้จ่ายเงินรางวัลแต่ประการใดคำสั่งให้จ่ายเงินรางวัลของจำเลยที่ 2 จึงหาเป็นคำสั่งที่ผิดต่อระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 ไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 57 จึงไม่ต้องคืนเงินรางวัลแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง /เมื่อ
เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมศุลการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลการได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุที่จะอนุมัติจ่ายเงินรางวัลได้ตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 และเห็นว่ามิใช่เป็นกรณีความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้ว จึงได้มีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินรางวัลแก่จำเลยทั้งห้าสิบเจ็ดไปเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลพินิจสั่งอนุมัติจ่ายเงินรางวัลโดยทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมสินค้าและการเสนอขออนุมัติเบิกเงินรางวัลได้กระทำโดยถูกต้องตามขั้นตอนตามระเบียบการปฏิบัติราชการแล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลพินิจโดยประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด