คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4433/2529

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อมูลหนี้ที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิด ต่างแยกออกจากกันได้เป็นการเฉพาะตัวแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 1กับโจทก์เท่านั้น มูลหนี้เดิมจะระงับหรือไม่ระงับ ก็มีผลเฉพาะคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้ถือว่า ตนมีหนี้แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะถือประโยชน์ อันเกิดแต่สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นประโยชน์แก่ตนได้ มูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ หาระงับด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังกล่าวไม่ สิทธิในการฟ้องร้องคดีหรืออำนาจฟ้องกับสิทธิที่จะบังคับ คดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเป็นกรณีที่แตกต่างกันอยู่ในขั้นตอนที่ต่างกันจะนำมาพิจารณาคละระคนด้วยกันหาได้ไม่แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจำเลยจะยกเอาการบังคับคดีที่อาจมีได้สองทางโดยจะเกิดขึ้นหรือไม่ยังไม่เป็นการแน่นอนขึ้นต่อสู้ เพื่อปฏิเสธความรับผิดในมูลหนี้ตามคำฟ้องเสียแต่แรกนั้น หาเป็น การถูกต้องไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ที่ 3มีอำนาจหน้าที่ประการใด จำเลยทั้งสอง หาได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นไม่ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ในการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ประการใด ทำให้โจทก์เสียหายอย่างใด แล้วสรุปว่าการกระทำของจำเลยทั้งสอง เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้ เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยเป็นผู้ถูกจ้าง อันเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 8(5)ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ มูลหนี้ละเมิดอันเป็นมูลหนี้เดิมที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว และทำให้โจทก์ได้รับหนี้หรือสิทธิขึ้นใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งโจทก์ได้ฟ้อง จำเลยที่ 1 ด้วยมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ยังมิได้ รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากจำเลยที่ 1 ความรับผิด ในมูลหนี้ละเมิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ระงับสิ้นไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 271

ผู้พิพากษา

จุนท์ จันทรวงศ์
มาโนช เพียรสนอง
สีนวล คงลาภ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android