คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2529

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 พ.ย. 2551 10:56:54

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างและผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จ้างจำเลยอื่นให้พิมพ์ปลอมหนังสือแบบเรียนและแบบพิมพ์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีลิขสิทธิ์ เอาชื่อในการประกอบการค้าและรูปเสมาธรรมจักรซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกระทรวงศึกษาธิการมาใช้ แล้วส่งไปจำหน่ายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมพ.ศ. 2474 มาตรา 25,27 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 24,43 พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482มาตรา 6,7,8 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 19,57ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265,268,272(1)กรณีเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทเมื่อบทหนักตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ พระราชบัญญัติการพิมพ์ฯและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,268 ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วความผิดบทอื่น ๆ แม้จะมีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าแผนกจำหน่าย จำเลยที่ 5เป็นผู้จัดการฝ่ายการพิมพ์โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นแม้จะทราบว่ากรมการปกครองต้องขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการก่อนจึงจะจัดพิมพ์ได้ ก็เฉพาะในช่วงที่งบประมาณจัดพิมพ์เป็นของกรมการปกครองเมื่อกระทรวงมหาดไทยโอนงบประมาณในการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนเพื่อแจกแก่นักเรียนที่ยากจนยืมเรียนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจำเลยอาจเข้าใจว่าหน้าที่การขออนุญาตจัดพิมพ์เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ได้การที่จำเลยได้สั่งจ้างจำเลยที่ 1 จัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนเตรียมไว้ก่อนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะสั่งจ้างพิมพ์นั้นเป็นดุลยพินิจของจำเลยที่จะกระทำได้ ดังนี้ จำเลยที่ 4 ที่ 5กระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดย่อมขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้อง บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยอื่นอีก 5 คน เป็นกรรมการ และลูกจ้างย่อมเข้าใจว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อส่วนราชการมาจ้างพิมพ์ในนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งพิมพ์ในรูปแบบเดียวกับ สมัยที่กรมการปกครองจัดพิมพ์ มีชื่อผู้จัดการโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเหมือนกันจำเลยย่อมจะต้องเข้าใจว่าส่วนราชการผู้ว่าจ้าง มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะจ้างพิมพ์ได้ ย่อมไม่จำต้องไปตรวจสอบว่าผู้ว่าจ้างพิมพ์มีลิขสิทธิ์ในการสั่งพิมพ์ตามกฎหมายหรือไม่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องเพราะขาดเจตนา
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482
  • พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59

ผู้พิพากษา

อำนวย อินทุภูติ
ดำริ ศุภพิโรจน์
สมศักดิ์ เกิดลาภผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android