คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2543

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การกระทำโดยเจตนาในทางอาญาและการกระทำโดยจงใจในทางแพ่งมีความหมายทำนองเดียวกัน กล่าวคือ การกระทำโดยเจตนาในทางอาญา หมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ส่วนการกระทำโดยจงใจในทางแพ่ง หมายถึง กระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำของตนหรืออีกนัยหนึ่งคือ กระทำโดยรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น อันมีความหมายกว้างกว่าการกระทำโดยเจตนาในทางอาญา การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคดีนี้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟัง ได้แต่เพียงว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้สอบถามและแสดงกิริยาในลักษณะไม่นอบน้อมอย่างเพียงพอต่อ ป. ลูกค้าของโรงแรมของจำเลยที่ 1 ทำให้ ป. ไม่พอใจตัวโจทก์ ซึ่งไม่ปรากฏโจทก์กระทำไปโดยเจตนาจะให้เกิดความเสียหายแก่โรงแรมของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางนำเอาข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติแล้วมาปรับข้อกฎหมาย โดยหยิบยกเอาการกระทำของโจทก์ว่าไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงแรมของจำเลยที่ 1 มาเป็นเหตุผลประกอบในการวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเท่านั้น มิได้วินิจฉัยคดีโดยการนำเรื่องเจตนาในทางอาญามาปรับใช้แก่คดีแรงงาน คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงชอบแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59

ผู้พิพากษา

รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์
สละ เทศรำพรรณ
จรัส พวงมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android