คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จะเกิดเป็นสัญญาหมั้นได้นั้น จำต้องมีของหมั้นเป็นหลักฐาน.
(อ้างฎีกา 676/2487)
ของหมั้นนั้น ตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 1436 วรรคแรก จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่า จะสมรสกับหญิงนั้น จึงจำต้องมีการมอบกัน.
ฝ่ายหญิงได้ตกลงเรียกทองหมั้นหนัก 12 บาท ฝ่ายชายได้มอบทองหนัก 6 บาทไว้ก่อน ส่วนอีก 6 บาทได้มอบโฉนดซึ่งมีเนื้อที่ 108 ไร่ ให้ยึดไว้แทน โดยตีราคาเนื้อที่นาในโฉนดนี้เพียง 50 ไร่ เท่ากับทอง 6 บาท เมื่อชายตายโดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส หญิงก็ได้แต่เก็บเอาทองหมั้น 6 บาทที่ได้มอบไว้แล้วนั้น (มาตรา 1440) ส่วนทองอีก 6 บาทที่ยังไม่ได้มอบหาใช่ของหมั้นไม่ หญิงจึงจะเก็บเอาไว้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่หญิง จะเรียกเอาก็ไม่ได้เพราะสัญญาหมั้นเลิกกันเพราะความตายของชายแล้ว ไม่มีบทกฎหมายใด ให้หญิงเรียกได้ เมื่อไม่มีมูลหนี้ที่หญิงจะเรียกร้องต่อไป โฉนดที่ฝ่ายชายวางไว้เป็นประกัน จึงไม่มีหนี้จะประกัน หญิงก็ยึดโฉนดไว้ไม่ได้.