คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2536

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ร.ต.อ.อุทัยได้ทำการตรวจค้นบริเวณด้านหลังอู่ที่พบชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุของกลางภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้ว จึงมิใช่กรณีของการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคสอง แต่เป็นการค้นตามมาตรา 102 วรรคแรก และ ร.ต.อ.อุทัยก็ได้แสดงหมายค้นและค้นต่อหน้าผู้ครอบครองดูแลอู่ในขณะนั้นและได้ทำบันทึกการตรวจค้นโดยมีรายละเอียดสิ่งของที่ค้นพบรวมถึงกล่องวิทยุที่ถูกเผาให้ผู้ครอบครองดูแลอู่ลงชื่อไว้แล้ว การตรวจค้นของ ร.ต.อ.อุทัยจึงชอบด้วยมาตรา 102 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับเอาทรัพย์ของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครอง และจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1กับพวกได้ร่วมกันแยกเอาชิ้นส่วนออกและพ่นสีรถใหม่ รวมทั้งทำลายหลักฐานบางส่วนโดยการเผา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวกทราบดีแล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานรับของโจรนั้น อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวกันได้ หากจำเลยรับทรัพย์ของกลางไว้หลายคราวและต่างเวลากัน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าจำเลยที่ 1ได้รับเอาทรัพย์ของกลางตามที่โจทก์ฟ้องทุกคดีในคราวเดียวกันอันจะเป็นความผิดกรรมเดียวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีอื่นที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยแล้ว กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำบันทึกการจับกุมในสถานที่ที่จับกุมหรือตรวจค้น อีกทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกถูกจับกุมในสถานที่ต่างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน การทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้ว และเนื่องจากเป็นการบันทึกการจับกุม มิใช่บันทึกการตรวจค้น จึงไม่จำต้องบันทึกของกลางที่ตรวจพบไว้โดยละเอียด เพียงแต่บันทึกของกลางที่ตรวจพบหรือทำบัญชีของกลางไว้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103 พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายวัตถุของกลางให้จำเลยที่ 1ดูแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ร้องขอดูวัตถุของกลางโดยตรงจึงนับว่าเพียงพอและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 242แต่อย่างใด และเนื่องจากวัตถุของกลางเป็นรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ย่อมไม่สะดวกที่จะบรรจุหีบห่อและตีตราไว้ แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกภาพวัตถุของกลางดังกล่าวไว้นั้นถือได้ว่าได้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญแก่วัตถุของกลางนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 101 แล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 101
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103

ผู้พิพากษา

ประสิทธิ์ แสนศิริ
วิทวัส อยู่วัฒนา
ไพศาล รางชางกูร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android