คำพิพากษาย่อสั้น
การคำนวณค่าปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ มาตรา 27 นั้น ต้องถือเอาราคาของในท้องตลาดอันเป็นราคาที่แท้จริง และรวมค่าอากรเข้าด้วย เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
การลักลอบนำข้าวออกนอกประเทศเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 กับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีเท่ากัน แต่การกระทำฐานพยายามนั้น พระราชบัญญัติศุลกากรถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 27 เสมือนกับเป็นความผิดสำเร็จลงโทษจำคุกได้ถึง 10 ปี แต่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ ลงโทษได้เพียง 2 ใน 3 จำคุกได้อย่างสูง 6 ปี 8 เดือน จึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 (อ้างฎีกาที่ 1027/2504)
การกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น ศาลต้องนำพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาใช้บังคับในการสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับ
จำเลยทั้ง 3 พยายามนำข้าวออกนอกประเทศ ข้าวสารเป็นของจำเลยที่ 2 จำนวน 6 กระสอบ เป็นของจำเลยที่ 3 จำนวน 6 กระสอบ จำเลยที่ 2,3 ไม่ได้สมคบกัน ส่วนจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2,3 ดังนี้ เมื่อค่าปรับทั้งหมด 8002.56 บาท จึงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4001.28 บาท จำเลยที่ 2,3 คนละ 2000.64 บาท จำเลยที่ 2,3 รับสารภาพลดกึ่ง คงปรับคนละ 1000.32 บาท
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 บัญญัติว่า เรือ...รถ...หากใช้ในการย้าย ถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้เสียภาษี... ให้ริบเสียสิ้น นั้น หากเจ้าของมิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำผิดแล้ว ศาลไม่ริบ (อ้างฎีกาที่ 193/2491) ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้ไต่สวน ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าเจ้าของรถยนต์ของกลางรู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำหรือไม่ อัยการโจทก์ก็ค้านอยู่ว่ารู้เห็นเป็นใจ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี