คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2536

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าขายสินค้าของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1และจำเลยทั้งสองโดยไม่มีอำนาจและมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ได้จัดให้มีการเขียนวันที่สั่งจ่ายลงในเช็คนั้นเพื่อให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้รับชำระหนี้อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้และเพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น จึงเป็นการร่วมกันทำเอกสารปลอมขึ้นบางส่วนโดยการเติมข้อความในเอกสารสิทธิและตั๋วเงินที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงที่โจทก์ทำขึ้นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและตั๋วเงิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,264,265,266(4) เมื่อจำเลยทั้งสองนำเช็คปลอมไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิและตั๋วเงินปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,268 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เบิกความต่อศาลในคดีอาญาว่า โจทก์ไม่ใช่พนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ซื้อสินค้าไปจากจำเลยที่ 1 แล้วสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าโดยเช็คดังกล่าวได้เขียนรายการครบถ้วนซึ่งความจริงแล้วปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายให้จำเลยทั้งสองไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ไม่ใช่เพื่อชำระหนี้ และวันที่สั่งจ่ายในเช็คถือเป็นข้อสำคัญในคดีเพราะหากผู้สั่งจ่ายไม่ลงวันที่สั่งจ่ายก็ถือว่าไม่ได้ระบุวันในการกระทำผิด ผู้สั่งจ่ายเช็คไม่อาจมีความผิดได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ในการพิจารณาคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 1ถึงแม้จะเป็นนิติบุคคล แต่การที่จำเลยที่ 2 เบิกความดังกล่าวเป็นการเบิกความแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้สังเกตได้จากการที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ ศ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจนมีการดำเนินคดีแก่โจทก์ทางอาญา และพนักงานอัยการฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ การที่จำเลยที่ 2 เบิกความในคดีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 แม้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเบิกความไว้แต่นิติบุคคลอาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลได้ ดังนั้นผู้จัดการของนิติบุคคลย่อมต้องเบิกความต่อศาล และถือได้ว่าเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความแทนจำเลยที่ 1 เป็นเท็จก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75

ผู้พิพากษา

สมปอง เสนเนียม
อัมพร เดชศิริ
วิทูรย์ สุทธิประภา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android